รู้ไหมว่าในประเทศจีนมีคนใช้อินเตอร์เน็ตสูงถึง 800 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอยู่เพียง 300 ล้านคนเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศจีนจะเป็นแชมป์ประเทศที่มีผู้ใช้ Social Media สูงที่สุดในโลกเมื่อปี 2019 โดยมีจำนวนผู้ใช้ Social Media อยู่ที่ 673.5 ล้านคนด้วยกัน หลายแบรนด์และบริษัทจากทั่วโลกต่างก็พยายามจะเจาะกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนผ่านช่องทางออนไลน์นี้ อย่างไรก็ตาม ปริมาณผู้งานใช้มหาศาลนี้ทำให้มีแอปพลิเคชั่น ฟีเจอร์ และเทรนด์การใช้อินเตอร์เน็ตเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทและแบรนด์ต่าง ๆ ก็ต้องพยายามจับให้ได้ไล่ให้ทัน บทความนี้ UNBOX BKK ขอนำตัวอย่าง Social Media ซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศจีนมาให้ทุกท่านได้รู้จักกัน และสำหรับผู้ที่ต้องการขายของหรือขยายกิจการไปยังแดนมังกร จะได้พอเห็นเส้นทางในการทำการตลาดและโฆษณาออนไลน์ครับ
เราขอแบ่งแอปพลิเคชั่นออกเป็น 2 แบบด้วยกันคือ Chat Application คือแอปฯ ที่ทำหน้าที่หลักเป็นช่องแชท และ Social Application คือแอปฯ ที่ทำหน้าที่เป็นกระดานลงข่าวสารและสังคมออนไลน์เป็นหลัก
Chat Application
WeChat – วีแชท
ประเทศไทยมี LINE ประเทศจีนก็มี WeChat ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้ว WeChat ออกจะมีความครบเครื่องกว่าในเรื่องของการเป็น Super App ที่รวมฟีเจอร์จำนวนมหาศาลไว้ยิ่งกว่า LINE เสียอีก WeChat จากบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ “Tencent” เป็นแอปพลิเคชั่นที่มียอดการใช้งานสูงที่สุดในประเทศจีน หน้าที่หลักของ WeChat คือเป็นออนไลน์แชท แต่นอกจากนี้ชาวจีนยังใช้ WeChat ในการสั่งอาหารออนไลน์ จองตั๋วบริการต่างๆ เรียกแท็กซี่ ไปจนถึงเล่นเกม
อุปกรณ์การทำการตลาดบน WeChat ก็คล้ายกับ LINE คือ มี Official Account, Banner โฆษณา, Content Marketing บนพื้นที่ข่าวสารเหมือนหน้า Feed ของ Facebook และที่เหนือชั้นขึ้นไปอีกก็คือ WeChat Search ซึ่งคนจีนใช้แทน Google เมื่อต้องการความสะดวก
QQ – คิวคิว
อีกแอปฯ หนึ่งที่มักทำให้คนสับสนกับ WeChat เพราะทั้งคู่มีฟังก์ชั่นหลักคือ ออนไลน์แชท แถมยังมาจากบริษัท Tencent เหมือนกันอีกต่างหาก โดยในช่วงแรกเริ่ม QQ ทำหน้าที่เป็นเหมือน MSN แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในปี 2020 นี้ QQ ได้เพิ่มฟังก์ชั่นด้าน Social ขึ้นมาอีกมากมาย
ในด้าน Marketing นั้น QQ จะมีความเป็นบุคคลมากกว่า WeChat ทำให้มีการอัพเดตเรื่องความบันเทิงมากกว่า WeChat กลุ่มคนดัง และ KOL ก็สื่อสารกับกลุ่ม Followers ของตัวเองผ่านทาง QQ นี่เอง ทำให้ QQ เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นมากกว่า WeChat ไปแล้ว โดยมีสัดส่วนของผู้ใช้งานอายุ 10-29 ปี สูงถึง 60% ของผู้ใช้ทั้งหมด นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างเกี่ยวกับ QQ คือ เนื่องจากบัญชีผู้ใช้ QQ มักถูกนำไปใช้เป็นบัญชีล็อกอินเข้าเกมต่างๆ ทำให้ QQ มีปริมาณผู้ใช้เป็นผู้ชายสูงกว่าผู้หญิงอีกด้วย
แม้กลุ่มผู้ใช้จะมีอายุน้อยกว่า 30 ปี อาจไม่มีกำลังซื้อเท่ากับผู้ใช้แอปพลิเคชั่นอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม QQ ก็มีเป็นช่องทางสื่อสารที่แบรนด์จะมองข้ามไม่ได้เลย
Social Application
Weibo – เวยป๋อ
กระดาน Social Media ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน โดยมีลักษณะเป็น Blog ที่ผู้คนและแบรนด์มาลงข่าวสาร Weibo จึงเป็นที่ที่เกิดเรื่องราว กระจายข่าวสาร สร้างเทรนด์ ดราม่า และทำ Viral Marketing
การทำการตลาดบน Weibo จึงคล้ายกับ Facebook คือ Content Marketing ในรูปแบบของโพสต์ ภาพโฆษณา Stories และ Video Streaming ทั้งนี้เรายังสามารถเชื่อมต่อ Content บน Weibo เข้ากับแพลตฟอร์ม E-Commerce อย่าง Taobao เพื่อโยนผู้ชมไปยังหน้าซื้อของออนไลน์ได้ทันทีอีกด้วย
Youku – ยูวคุ
YouTube ของชาวจีนนั่นเอง Youku เป็นแพลตฟอร์มสำหรับอัปโหลดวีดีโอออนไลน์ ซึ่งสะดวกต่อการแชร์ไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ชาวจีนใช้ Youku รับชมภาพยนตร์ ซี่รี่ส์ สารคดี เกมโชว์ ไปจนถึงกีฬา เรียกว่าทดแทนช่องโทรทัศน์ไปเลย โดยผู้ใช้ส่วนมากนิยมเข้า Youku เพื่อหาความรู้ด้านหนึ่งด้านใดโดยเฉพาะ บน Youku จึงเต็มไปด้วยวีดีโอเนื้อหาจริงจัง มีสาระ และถูกถ่ายทำด้วยอุปกรณ์คุณภาพสูง ที่ผู้ถ่ายทำจัดสรรมาแข่งขันกันเพื่อเรียกผู้ชม เรียกว่าเป็นที่ที่ Professional อยู่
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการทำการตลาดผ่าน Youku คือ ชาวจีนให้ความสำคัญกับยอดวิวและการรีวิวมาก เนื่องจากมีสินค้าปลอมและสินค้าด้อยคุณภาพในตลาดอยู่จำนวนมาก ทำให้วีดีโอบน Youku ที่เป็นดินแดนของเหล่าผู้เชี่ยวชาญนั้น หากได้รับการรับชมมากก็เหมือนได้รับการการันตีคุณภาพไปโดยปริยาย Youku จึงเป็นช่องทางที่สำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าและแบรนด์ หากทำวีดีโอโฆษณาแล้ว แบรนด์ควรอัปโหลดคลิปใน Youku รวมถึงทำโฆษณาร่วมกับเหล่า KOL ที่อยู่บน Youku ด้วย
Baidu – ไป๋ตู้
Search Engine ที่แต่ก่อนแฝงกับโปรแกรมต่าง ๆ มาฝังตัวใน Browser ของเรา จนบางคนเรียกว่าไวรัสไปเสียนั่น แต่ถึงอย่างไร Baidu ก็เป็น Search Engine ยอดนิยมของชาวจีน ซึ่งสำหรับคำถามที่เราหาคำตอบไม่ได้ ก็สามารถตั้งเป็นกระทู้ได้เหมือน Pantip.com อีกด้วย การทำการตลาดโดยแบรนด์จึงออกไปในลักษณะของการ Seeding และ Questionnaire เพื่อสำรวจความเห็นจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวจีน
TikTok – ติ๊กต็อก
แรงไม่หยุดนับตั้งแต่ปี 2016 กับแพลตฟอร์มลงวีดีโอสั้นจากบริษัท ByteDance ที่เน้นความบันเทิงเป็นหลัก ซึ่งมาถึงปี 2020 TikTok ก็ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว
เมื่อต้องการรับชมความบันเทิงและวีดีโอจากความคิดสร้างสรรค์ของคนทั่วไป ก็เพียงกระโดดเข้าแอปฯ TikTok เท่านั้น ซึ่ง TikTok มีฟังก์ชั่นสำคัญในการช่วยเพิ่มสีสันให้กับวีดีโอ แล้วยังถูกพัฒนามาเพื่อให้เจ้าของ Channel สามารถตอบโต้กับผู้ชมได้แบบ Real-time อีกด้วย
TikTok เหมาะสำหรับการทำ Content Marketing ในรูปแบบวีดีโอ ทั้งนี้ก็จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไปใน Content เพื่อให้กลมกลืนไปกับ Content อื่นๆ บนแพลตฟอร์ม สำหรับแบรนด์ใหญ่มักจะนิยมทำโฆษณากับ TikTok โดยตรงเพื่อสอดแทรกโฆษณาหรือสร้าง Challenge ให้ผู้ใช้ TikTok มาร่วมกิจกรรมกับแบรนด์ นอกจากนี้การทำโฆษณาร่วมกับ KOL ของ TikTok ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่แบรนด์ทั่วโลกนิยมทำ
หากต้องการอ่านเรื่องราวของ TikTok ในประเทศไทย สามารถคลิกอ่านได้ที่นี่
Toutiao – เถาเถียว
ทำหน้าที่ตามสโลแกนของเถาเถียวเลย คือ “พาดหัวข่าววันนี้” ความโดดเด่นของ Toutiao จากบริษัท ByteDance อีกเช่นกัน คือ เป็นกระดานกระจายข่าวสารที่สำคัญของชาวจีน ที่นี่ข่าวสารสะพัดได้ไม่ต่างกับใน Twitter ซึ่งการกระจายข่าวบน Toutiao นี้ถูกบริหารโดย A.I. จัดการข่าวสารที่มี Machine Learning อันชาญฉลาดในการเสิร์ฟข่าวสารที่เหมาะกับแต่ละบุคคลอย่างที่สุด เนื่องจาก Toutiao มียอดผู้ใช้งานปริมาณมาก และมียอดผู้เข้าใช้งานต่อวันสูง การที่แต่ละคนต้องเข้ามาอัพเดตข่าวสารประจำวันอยู่เรื่อยๆ ทำให้ A.I. ได้รับข้อมูลปริมาณมาก นำไปสู่การคาดเดาข่าวสารที่ตอบสนองกับผู้ใช้แต่ละคนได้อย่างละเอียดและเจาะลึกตามความต้องการของแต่ละคน
Toutiao เหมาะสำหรับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำ Content Marketing เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างให้กับแบรนด์ หากทำ Content อย่างพิถีพิถัน ยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสที่ A.I. จะช่วยคัดและส่งข่าวสารของแบรนด์ไปถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เราต้องการ รวมถึงยังมีโอกาสสูงขึ้นที่ Content ของเราจะถูกอ่านหรือรับชม เพราะผู้ใช้ Toutiao เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ A.I. คัดเนื้อหามาให้แล้ว
Contributor
Karn Triamsiriworakul
Learned about reasoning from the school of law but landed job in marketing field to work toward his interest in art and psychology.