(บทความนี้แปลและดัดแปลงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เขียนโดย Doug Main เผยแพร่ผ่านเวปไซต์ MarketingTech วันที่ 8 กันยายน 2020)
หลายองค์กรมองว่าการออกแบบเป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา ไม่ใช่ต้นทุนของการทำธุรกิจ
ปกติแล้วแผนธุรกิจของบริษัทมักรวมค่าใช้จ่ายในส่วนของพนักงาน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน สินค้าและบริการ แต่เหตุใดสายงานและตำแหน่งครีเอทีฟจึงถูกมองว่าเป็นความสิ้นเปลืองหรือไม่ก็ถูกมองข้ามไปเลย?
จริงๆ แล้วการออกแบบอาจเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่จะช่วยโน้มน้าวกลุ่มเป้าหมายให้กลายมาเป็นลูกค้าได้ และบางครั้งอาจมีแค่เส้นบางๆ ระหว่างการที่แบรนด์สามารถรักษาฐานลูกค้าไว้ หรือเสียลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้กับคู่แข่ง หากแคมเปญที่ใช้สื่อสารยังถูกออกแบบมาไม่โดนใจ เมื่อนึกถึงธุรกิจที่ทำผลกำไรได้มากที่สุดในโลกอย่าง Apple, Nike และ McDonald’s เราเห็นแล้วว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ให้กลายเป็นการสื่อสารสู่ผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์แบบมากเพียงใด นั่นเพราะพวกเขาเข้าใจว่าเมื่อสื่อสารออกมาดี คนก็จะให้ความสนใจ
สุดท้ายแล้วหากแบรนด์สื่อสารด้วยสิ่งที่ต้องตา ต้องใจ ดึงดูดให้คนอยากมีส่วนร่วม และมี Key Message ที่กลุ่มเป้าหมายอยากได้ยิน ในไม่ช้าแบรนด์ก็จะกอบโกยรายได้ที่คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุนไป
การสร้างแบรนด์เพื่อให้ลูกค้ามีความสุข
ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีไม่เพียงแต่ทำให้งานออกแบบดูดีเท่านั้น การออกแบบสะท้อนอะไรได้มากกว่านั้น ตัวอย่างเช่น การออกแบบสามารถบอกตัวตนความเป็นแบรนด์นั้นๆ ได้
(โฆษณา Nescafe ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์)
การออกแบบที่ดีจะทำให้ธุรกิจเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายสนใจสินค้าหรือบริการออนไลน์ในส่วนใด ตัวอย่างเช่น กลุ่มเป้าหมายใช้เวลาบนหน้าเว็บบางหน้าที่ดึงดูดและมีความโดดเด่นหรือไม่? กลุ่มเป้าหมายดาวน์โหลดคู่มือล่าสุดเพราะกลยุทธ์ Call to Action ที่ดึงคนให้ทำอะไรมากกว่ามาดูเว็บไซต์ของเรามีประสิทธิภาพและเป็นไปตามแผนใช่หรือไม่? แล้วกลุ่มเป้าหมายของเราเลี่ยงที่จะเข้าถึงส่วนใดของเว็บไซต์บ้าง หรือไม่ค่อยอินกับส่วนใดของเว็บไซต์เป็นพิเศษ?
เพราะการออกแบบเป็นสิ่งที่วัดผลได้ องค์กรจึงสามารถเก็บทุกรายละเอียดที่จำเป็นเพื่อทำความเข้าใจเส้นทางการเดินทางของลูกค้า ก่อนที่พวกเขาจะกลายมาเป็นลูกค้าของเรา หรือ Customer’s Journey และข้อมูลเหล่านั้นยังสามารถส่งต่อไปยังฝ่ายการตลาดและการขายเพื่อทำการวิเคราะห์และปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ รวมถึงสร้างฐานลูกค้าใหม่ให้เยอะขึ้น นำไปสู่รายได้ที่คุ้มค่าต่อการลงทุนในที่สุด
เปลี่ยนความคิดเสียใหม่
ทั้งหมดนี้ฟังดูดีมาก แต่แน่นอนว่านักออกแบบยังยึดความคิดของตนเองเป็นหลัก ในเรื่องของรายละเอียดที่ต้องใส่ลงในชิ้นงานต่างๆ เพราะนักออกแบบเองก็ไม่ต่างจากผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม และการทำงานให้ตรงตามบรีฟโดยมีตัวชี้วัดเป็นเกณฑ์ก็อาจจำกัดความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ไม่มากก็น้อย
(Online Banner ของแบรนด์ Volkswagen ประเทศออสเตรเลีย ทำออกมาเป็นเกมส์ให้คนเล่น โดยการกดสลับบล็อกถนนให้รถ Volkswagen สามารถไปต่อได้)
(ครีมรอบดวงตาของ Nivea ใช้รูปภาพนาฬิกาเดินย้อนหลังเป็นการสื่อว่าหน้าตาผู้ใช้จะดูเด็กลง)
อย่างไรก็ตาม นักออกแบบก็ควรใช้โจทย์ต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ โดยท้าทายตัวเองในการสร้างสรรค์ผลงานที่สร้างรายได้ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน และฉีกออกจากบรีฟครีเอทีฟเดิม
ตอนนี้บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าออนไลน์ให้อยู่กับพวกเขาไปนานๆ และยังคงซื้อสินค้าและบริการอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นโจทย์ที่นักออกแบบยุคใหม่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับนักออกแบบแล้วว่าจะสามารถเปลี่ยนความคิดในเรื่องบทบาทของการเป็น “ครีเอทีฟ” ได้มากน้อยเพียงใด โดยไม่ใช่เพียงการออกแบบเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นว่าแบรนด์เป็นอย่างไรเท่านั้น แต่การออกแบบยังต้องนำไปสู่การสร้างรายได้ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึงยังเป็นการสื่อสารข้อมูลที่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้งานในโลกดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอีกด้วย
ในขณะที่ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมถึงคำนึงเรื่องการวัดผลและรับมือกับความท้าทายต่างๆ องค์กรเองก็จำเป็นต้องลงทุนกับการออกแบบ เพื่อให้โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง พร้อมกับการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ที่ดึงดูด และเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง
Contributor
Pol.Lt.Pichapen Sorum, Ph.D.
Pichapen is specialized in fields ranging from Public Policy to Content Marketing and Social Media Advertising. She’s experienced in working with both Government entities, and Start-Ups through the last decade. She’s also worked in translation, transcreation & copywriting for over 15 years and was positioned as a magazine editor for an online magazine before moving to FinTech. Pichapen is now working as a marketing manager for a Singaporean Start-Up, based in Thailand.