กระแสการสร้าง Instagram Stories (IG Stories) ทำให้ฟิลเตอร์ของ Instagram ที่ใช้ตกแต่งวีดีโอกลายเป็นกระแสตามไปด้วย ซึ่งตัวแพลตฟอร์มก็เพิ่มลูกเล่นให้กับฟีเจอร์นี้โดยอนุญาตให้คนทั่วไปหรือแบรนด์สร้างฟิลเตอร์ใช้เองและแชร์ฟิลเตอร์นี้ให้คนอื่นๆ ใช้ต่อได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากสังคมออนไลน์ในการแบ่งปันประสบการณ์ ความสนุก และความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างดี
จากงานรวบรวมของ Sproutsocial เปิดเผยว่า IG Stories มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 500 ล้าน Accounts ในทุกทุกวัน มากกว่าร้อยละ 70 ของผู้ใช้ Instagram เปิดดู Stories ทำให้ Platform นี้กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่มี Traffic สูงบนโลกดิจิทัล และถูกบรรจุลงในแผนการตลาดดิจิทัลของหลายธุรกิจและแบรนด์ทั่วโลก
หนึ่งใน Highlight ของเจ้า IG Stories ก็คือ Filter (ฟิลเตอร์) นั่นคือ ตอนนี้ฟิลเตอร์ไม่เพียงแต่เปลี่ยนสีหรือโทนภาพแบบฟิลเตอร์สำหรับภาพนิ่งหรือวีดีโอใน Instagram เท่านั้น ยังมีฟิลเตอร์แบบ Augmented Reality (AR) เป็นฟีเจอร์หนึ่งที่นิยมกันใน Instagram อีกด้วย เพราะฟิลเตอร์ AR นี้ ตอบสนองกับใบหน้าหรือสภาพแวดล้อมของผู้ใช้แต่ละคน คล้ายเป็นการทำ Computer Graphic แบบง่าย ๆ ใส่ Stories ของแต่ละคน ทำให้แม้แต่ Stories ในชีวิตประจำวันก็เกิดความตลกหรือความหวือหวาน่าสนใจขึ้นมาได้
แบรนด์สามารถทำ Marketing ผ่านช่องทางนี้ได้อย่างไร?
ฟิลเตอร์ที่สวยงามหรือเป็นที่นิยมย่อมดึงดูดให้ผู้ใช้ Instagram นำไปใช้กับ Stories ของตัวเอง หรืออาจจะแชร์ให้กับเพื่อนเล่นด้วย จึงไม่ยากที่ฟิลเตอร์ของแบรนด์จะถูกส่งต่อไปในโลกของ IG อย่างต่อเนื่อง
การสร้าง Instagram ฟิลเตอร์ใช้เองก็ค่อนข้างมีขั้นตอนและต้องใช้ทักษะอยู่พอสมควร ซึ่งหากผู้ใช้ Instagram จะหาฟิลเตอร์สำหรับ Stories ของคนอื่นหรือของแบรนด์มาใช้เล่นสนุก ก็ต้องใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งดังต่อไปนี้
1. รับชม Stories ที่มีฟิลเตอร์อันนั้นอยู่ และกด Save มาใช้
2. ขอเพื่อนที่เคยเซฟฟิลเตอร์อันนั้นไว้ Forward ให้
3. เข้าไปยังหน้าโปรไฟล์ IG ของผู้สร้างฟิลเตอร์นั้นนั้น แล้วดาวน์โหลดมาจากแถบฟิลเตอร์ของพวกเขา
จะเห็นว่าไม่ว่าเลือกข้อไหน ผู้ใช้ Instagram ก็ต้องผ่านการปฏิสัมพันธ์บางอย่างกับผู้ใช้ Instagram คนอื่น จึงเพิ่มโอกาสที่ผู้ใช้จะได้รับชมฟิลเตอร์ของแบรนด์หรือเคยเข้าไปดูหน้าโปรไฟล์ของแบรนด์เพื่อดึงเอาฟิลเตอร์มาใช้
การทำโฆษณาหรือแคมเปญโปรโมตผ่านฟิลเตอร์นี้ เป็นการทำโฆษณาโดยใช้พลังของผู้บริโภคในการขับเคลื่อนแคมเปญ เพราะผู้ใช้ Instagram สร้าง Content เกี่ยวกับตัวเองหรือเรื่องที่ตัวเองสนใจโดยใช้ส่วนเสริมจากแบรนด์ในการสร้าง Content ซึ่ง Content จากผู้ใช้ทั่วไป มีผู้รับชมมากกว่า Content จากแบรนด์โดยตรงอยู่แล้ว เพราะคนสนใจเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนหรือครอบครัวของตัวเองมากกว่า Content จากแบรนด์ที่คนมักคิดไปก่อนว่าคงเป็น Content โฆษณาส่งเสริมการขาย
เหล่า Influencers หรือผู้ที่ทำแคมเปญร่วมกับแบรนด์ก็สามารถช่วยโปรโมตฟิลเตอร์เหล่านี้ได้ ด้วยการใช้ฟิลเตอร์ใน Stories ของพวกเขาและแนบช่องทางให้ผู้ชมเข้าไปดาวน์โหลดฟิลเตอร์มาใช้บ้าง หรือแนบช่องทางสำหรับดาวน์โหลดฟิลเตอร์เหล่านี้ในโพสต์ทั่วไปของพวกเขา
ฟิลเตอร์เหล่านี้ใช้แสดงอัตลักษณ์ของแบรนด์และแนบข้อความที่แบรนด์ต้องการจะสื่อสารได้ดี แล้วยังมียอดการแชร์และใช้งานสูง เพราะฟิลเตอร์เหล่านี้โฟกัสที่ตัวผู้บริโภคหรือผู้ใช้แพลตฟอร์มเป็นหลัก ไม่ได้โฟกัสที่ตัวแบรนด์หรืองานขาย ผู้ใช้ทั่วไปก็เอาฟิลเตอร์ไปทดลองเล่นกันได้โดยไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองกำลังเชียร์แบรนด์ไหนออกนอกหน้า นี่จึงเป็นการดึงผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์อย่างแยบคาย
ลองดูฟิลเตอร์ที่น่าสนใจของแบรนด์ต่าง ๆ
• ช่องสารคดี Discovery โปรโมทช่วง Shark Week ที่ถ่ายทอดรายการเกี่ยวกับฉลาม โดยให้แฟนๆ ลองสุ่มกันว่าพวกเขาเหมือนปลาฉลามชนิดไหน
• Expedia ให้คุณสุ่มประเทศที่คุณควรจะไปเที่ยวในที่ต่อไป เมื่อสุ่มเสร็จได้ประเทศไหน ฟิลเตอร์จะเปลี่ยนพื้นหลัง Stories ของคุณให้เป็นประเทศนั้นๆด้วย
• Burger King จับใบหน้าของคุณมาดูว่าคุณกำลังหิวเมนูไหนของ Burger King
• Ford จำลองรถยนต์ขนาดรถของเล่นออกมาในโลกของคุณเพื่อแสดงประสิทธิภาพเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ภายในรถยนต์ของพวกเขา
• แบรนด์แฟชั่นก็ไม่น้อยหน้า ถ้าคุณลองสวมหมวก Dior จะเป็นอย่างไรบ้างนะ ?
• Prada เสริมความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับแฟน ๆ ด้วยการสุ่มคำว่า Prada หมายถึงอะไรสำหรับแฟน ๆ แต่ละคน
• ทดลองลิปสีต่างๆ กับเครื่องสำอาง MAC ลองดูว่าสีไหนที่เหมาะกับคุณ โดยไม่ต้องไปลองถึงหน้าร้าน
• Adidas เสริมภาพลักษณ์ของความเป็น Activewear โดยให้แฟนสุ่มเอฟเฟคสีฉูดฉาดเพิ่มความ Active ให้กับวันนี้ของเหล่าแฟนๆ
• ทันสถานการณ์กับ UNICEF ที่ชวนคนมาส่งต่อความห่วงใยและอย่าลืมใส่ใจความสะอาด ด้วยฟองสบู่รูปหัวใจในคลิป
• เข้าโปรไฟล์ Instagram ไปหาฟิลเตอร์แนวศิลปะมาเล่นได้มากมาย
อยากสร้างฟิลเตอร์ของตัวเอง/แบรนด์ตัวเอง?
สามารถสร้างฟิลเตอร์ได้เองผ่านโปรแกรมของ Facebook ที่ชื่อ SparkAR (ดาวน์โหลดได้ที่นี่) ลองดูวิธีทำโดยละเอียดได้ที่นี่
ทั้งนี้ หลังจากสร้างเสร็จแล้วจะนำไปใช้บน Instagram จะต้องส่งฟิลเตอร์ของเราให้เจ้าหน้าที่อนุมัติก่อน ซึ่งระยะเวลากว่าจะได้รับการอนุมัตินั้นอาจสั้นยาวต่างกันไปตามโอกาสตั้งแต่ 1-14 วัน โดยเมื่อเราสร้างฟิลเตอร์ของเราเสร็จแล้ว ก็เลือกส่งฟิลเตอร์ไปขอรับการทดลองและอนุมัติจาก Spark AR Hub ได้ทันที
สำหรับใครที่ต้องการความสะดวกในการทำการตลาดและโฆษณาผ่าน Instagram อยากหาคนช่วยคิดหรือออกแบบว่าฟีเจอร์ไหนเหมาะกับแบรนด์ของเรา ปรึกษาทีม UNBOX ได้นะครับ
Contributor
Karn Triamsiriworakul
Learned about reasoning from the school of law but landed job in marketing field to work toward his interest in art and psychology.