พวกเราคงไม่ได้รู้สึกกันไปเองแน่ๆ ว่าหลายปัญหาในโลกทวีความรุนแรงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม มลภาวะ โลกร้อน ขยะล้นโลก อย่างมลภาวะ PM 2.5 หมอกพิษที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าซึ่งเดินทางมาถึงหน้าบ้านของทุกคนในประเทศไทย ไหนจะปัญหาสังคม คุณภาพชีวิตและการทำงาน ความเครียดของคนในสังคม จากสถิติพบว่าคนทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 25% มีประสบการณ์เคยปรึกษาจิตแพทย์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของคนบนโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จนจะทำไม่รู้ไม่ชี้กันไม่ได้แล้ว
ทัศนคติของผู้บริโภคย่อมเปลี่ยนไปในทางที่สนใจสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในกิจวัตรทั่วไปที่พวกเขาทำ แต่รวมไปถึงเวลาที่พวกเขาจับจ่ายซื้อของก็ไม่ได้มองหาแค่นวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่ดีจากแบรนด์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมองด้วยว่าแบรนด์นี้สร้างผลกระทบที่ดีต่อโลกอย่างไรบ้าง
(ผู้คนสามารถเข้าถึงประวัติของบริษัทได้ในไม่กี่วินาที ยิ่งส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าสักชิ้นอย่างมาก)
แบรนด์และบริษัทจึงไม่สามารถเอาแต่คิดเรื่องขยายธุรกิจหรือมุ่งเน้นผลกำไรได้อีกต่อไป แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่ล้อมรอบธุรกิจอยู่ด้วยว่าพวกเขาสร้างผลกระทบกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้างระหว่างที่กำลังดำเนินธุรกิจไปสู่เป้าหมาย
(อันที่จริงทั้งบริษัทและลูกค้าก็อยู่ในภาชนะเดียวกัน ในมุมหนึ่งจะเรียกว่ามีความรับผิดชอบร่วมกันก็ได้ ในบางตำราธุรกิจก็เปลี่ยนจากคำว่า Customer หรือลูกค้า เป็น Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแทน)
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโมเดลธุรกิจ Corporate Sustainability (ความยั่งยืนขององค์กร) ขึ้น เป็นหลักการว่าด้วย 3 องค์ประกอบ ที่ภาคธุรกิจต้องคิดถึงและดูแลประคับประคองเพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน หลักการเหล่านี้ต้องถูกบรรจุไว้เป็นเนื้อเดียวกับการพัฒนาองค์กร พัฒนาพนักงาน พัฒนาสินค้าและบริการ ไม่ใช่แค่ดำเนินธุรกิจอะไรไปแล้ว ค่อยมาทำชดเชยหรือทดแทนทีหลัง 3 องค์ประกอบที่ว่า ได้แก่
1. ด้านสิ่งแวดล้อม
บริษัทต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยรู้ว่าการดำเนินธุรกิจของตัวเองสร้างกระทบต่อธรรมชาติอย่างไรบ้างและพยายามก่อมลภาวะให้น้อยลง นำขยะมารีไซเคิล ไปจนถึงอบรมพนักงานให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
Adidas เป็นแบรนด์หนึ่งที่โปรโมตเรื่อง Sustainability ด้านสิ่งแวดล้อมมาระยะหนึ่งแล้ว โดยการใช้นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนขยะและวัสดุเหลือใช้กลับมาเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของพวกเขาก็คือคอลเล็กชั่น Primeblue ซึ่งทั้งรองเท้าและเสื้อผ้าออกกำลังกายทุกชิ้น ถูกถักทอขึ้นจากเส้นใย Polyester ที่ได้มาจากการย่อยสลายขยะพลาสติกในทะเล เพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ไปใช้รู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมในการช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย
(ภาพแสดงการเปลี่ยนขวดพลาสติกกลายเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์)
(ตัวอย่างรองเท้าในซีรี่ส์ Primeblue)
นอกจากเรื่องนวัตกรรมในสินค้าแล้ว Adidas เปิดเผยว่าพวกเขามีนโยบายลดการใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้งภายในออฟฟิศ เปลี่ยนถุงช้อปปิ้งตามร้านค้าของแบรนด์เป็นถุงกระดาษ ให้ความรู้กับพนักงานและผู้ที่ทำงานร่วมกับแบรนด์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยกันลดการใช้พลาสติก อีกทั้งยังมีจัดแคมเปญให้ลูกค้าได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยกันรณรงค์ลดการใช้พลาสติกทั่วโลกอีกด้วย
(นอกจาก Primeblue แล้ว Adidas ยังมีคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ ที่มาพร้อมแนวคิดในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทางใดทางหนึ่ง)
2. ด้านคนและสังคม
ทั้งที่เป็นคนภายในและภายนอกบริษัท ถ้าเป็นคนในบริษัทย่อมหมายถึงอะไรก็ตามที่ทำให้พนักงานของบริษัทมีคุณภาพชีวิตและประสบการณ์การทำงานที่ดี ทั้งจากวิธีการดูแลพนักงานและสวัสดิการที่มีให้ ให้ความมั่นคง ให้ผลตอบแทนที่สมควร มอบโอกาสในการพัฒนาตัวเอง รู้คุณค่าของพนักงานและสิ่งที่พวกเขาทำ ไม่เอารัดเอาเปรียบพนักงานตัวเอง สิ่งเหล่านี้เชื่อมความสัมพันธ์ให้พนักงานรู้สึกดีกับบริษัทเพื่อที่พวกเขาก็จะพูดถึงบริษัทของตัวเองในทางที่ดี และปฏิบัติกับลูกค้าของบริษัทอย่างดีเช่นเดียวกัน
กิจการและทิศทางของบริษัทเองก็มีความสำคัญ หากการดำเนินธุรกิจให้ผลกระทบที่ดีต่อโลกพนักงานก็อาจรู้สึกถึงคุณค่าของการทำงานมากขึ้น อาจตระหนักว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เป็นมากกว่างาน เพราะให้ประโยชน์มากกว่าแค่ค่าตอบแทนที่ตัวเองได้รับ แต่ตนได้ทำประโยชน์ต่อโลกและสังคมอีกด้วย นำไปสู่ความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีขึ้นอีกขั้น
สำหรับคนภายนอกบริษัท อาทิ Partner, Supplier การที่บริษัทเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลพวกเขาก็เป็นการสร้างสังคมธุรกิจที่เข้มแข็งไปในตัว แบรนด์ Starbucks เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ดูแล Supplier โดยการนำความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากการศึกษาการปลูกกาแฟทั่วโลกของมาแบ่งปันแก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในท้องถิ่น ทั้งแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรงและเหมาะสมกับแต่ละสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ไปจนถึงสนับสนุนงบประมาณในการสร้างไร่กาแฟที่มีคุณภาพและรักษ์โลกเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถส่งเมล็ดกาแฟคุณภาพดีให้กับพวกเขาไปได้นานๆ
บริษัทที่ดูแลพนักงานและสังคมที่ตัวเองดำเนินธุรกิจด้วยอย่างดี เกิดชื่อเสียงที่ดี คนก็ให้ความเชื่อถือ คิดว่าเป็นบริษัทที่มีหัวใจ มีความคิด ความเข้าใจ เกิดภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาลูกค้าไปด้วย
3. ด้านผลกำไร
การสร้างกำไรอาจไม่ใช่หัวใจสำคัญหนึ่งเดียวของการดำเนินธุรกิจอีกต่อไป แต่ก็เป็นตราชั่งหนึ่งซึ่งบอกว่าบริษัทกำลังสร้างความยั่งยืนอย่างเหมาะสมตามความเป็นจริงที่บริษัทมีความสามารถทำได้หรือเปล่า ต่อให้บริษัทพยายามผลักดันข้อ 1. และ 2. มากแค่ไหน แต่ถ้าบริษัทไม่มีกำไร ย่อมไม่ใช่การบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืน หากบริษัทล้มเหลวในการสร้างผลกำไรแล้ว บริษัทย่อมอยู่ไม่ได้ และความพยายามในการทำตามข้อ 1. และ 2. ก็คงจะต้องพังตามไปด้วยทันที
ในขณะเดียวกันเพื่อความยั่งยืนขององค์กรแล้ว บริษัทก็ต้องบริหารธุรกิจตามความเหมาะสมและมีธรรมาภิบาลด้วย หากเน้นแต่ด้านผลกำไรมากเกินไปไม่สนใจอีก 2 ด้านที่เหลือ ก็หมายความว่าธุรกิจของบริษัทกำลังขาดมโนธรรมบางอย่างอยู่
อย่างในกรณีของบริษัทรถยนต์ Tesla ซึ่งเป็นผู้นำกระแสด้าน Cryptocurrency และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ของพวกเขาด้วยสกุลเงินออนไลน์ได้ มาถึงในปี 2021 ก็ออกมาสวนกระแสและกลืนน้ำลายตัวเอง ไม่รับชำระค่ารถยนต์ด้วย Bitcoin อีกต่อไป เพราะพวกเขาพบว่าแม้ Cryptocurrency จะไม่ได้มีการผลิตธนบัตรออกมา แต่กระบวนการในการผลิตและรักษาระบบไว้จะต้องใช้พลังการประมวลผลจากทั่วโลกสูงมาก ซึ่งหมายถึงกระบวนการที่กินพลังงานไฟฟ้ามหาศาล ชนิดที่บวกลบออกมาแล้วทั้งปีกินพลังงานสูงกว่าปริมาณไฟฟ้าที่สวีเดนหรือมาเลเซียใช้ทั้งประเทศเสียอีก ยังไม่รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้บริหารระบบ Bitcoin จะสร้างขยะ Carbon นับล้านตันให้แก่โลกในอนาคตอีกต่างหาก
นับเป็นกรณีศึกษาหนึ่งจากบริษัทที่กำลังมีทิศทางสร้างผลกำไรและเสียงตอบรับที่ดีจากผู้คน ก็ยอมกลับลำเมื่อพบว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทำก่อผลเสียต่อโลกมากเกินสมควร
และในบางเรื่อง การไม่แสวงหาผลกำไรของบริษัทก็ให้ผลดีกับคนทั้งโลก อย่างในปี 1959 บริษัทรถยนต์ Volvo ออกแบบและผลิตเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดขึ้นมาใช้ในรถยนต์ของพวกเขา ซึ่งแม้ Volvo จะเป็นผู้ถือสิทธิบัตรแต่พวกเขาอนุญาตให้ทุกคนนำไปใช้ได้ ความมีมโนธรรมของ Volvo นี้ช่วยรักษาชีวิตผู้คนนับล้านจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมาเป็นเวลามากกว่า 60 ปีมาแล้ว เพราะเข็มขัดนิรภัยแบบนี้ยังคงเป็นแบบที่ดีที่สุด ทั้งใช้งานสะดวก มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง จึงมีใช้ในรถยนต์แทบทุกยี่ห้อมาจนถึงทุกวันนี้ นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เมื่อพูดถึงเมื่อไหร่ก็ทำให้ผู้คนรู้สึกกับ Volvo ในทางที่ดีเสมอๆ
เหล่านี้ก็เป็นองค์ประกอบของ Corporate Sustainability ที่ทีม UNBOX นำมาเหล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจจะได้นำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเองกันครับ
Contributor
Karn Triamsiriworakul
Learned about reasoning from the school of law but landed job in marketing field to work toward his interest in art and psychology.