เป็นโอกาสดีที่ทางผู้เขียน UNBOX ได้เข้าร่วมงาน Digital Content Cluster Day ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานรวมพลของบุคลากรในวงการ Digital Content จัดโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. และ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งงานภายในปีนี้นั้นจัดแบ่งเป็น 3 ช่วงคือการแถลงความสำเร็จในช่วงเช้า การจัด Webinar ในช่วงบ่าย ขนานไปกับการ Pitching ไปพร้อมๆกัน ซึ่งสำหรับในมุมผู้ชมทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักการตลาดแล้ว Session หนึ่งที่ฟังง่ายและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือสัมมนาในหัวข้อ Sound Branding โดย คุณท๊อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ CEO & Co-founder บริษัท ฟังใจ จำกัด
ด้วยเนื้อหาที่หาฟังได้ยากในสัมมนาการตลาดทั่วไป ประกอบกับการบรรยายเข้าใจง่าย ทาง UNBOX จึงจดสรุปเนื้อหาที่น่าสนใจมาฝากกันดังนี้ค่ะ
ชม Live ย้อนหลังฉบับเต็ม คลิกที่นี่
Sound Branding ความสำคัญของเสียง
- Sound Branding นั้นอธิบายอย่างง่ายคือการสร้างภาพจำของตราสินค้าเรากับเสียง ซึ่งเสียงนั้นทำงานได้ดีไม่น้อยไปกว่าภาพ เหมือนเวลาที่เราเราได้ยินเสียง ตืด ตื๊อ ตืด วิ่งผ่านหน้าบ้านเมื่อใดแล้วคิดถึงไอศกรีมวอลล์ หรือได้ยินเสียงตื่อดึ่ง ขึ้นมาเวลาเปิด Smart TV แล้วนึกถึง Netflix นั้น การทำงานของประสาทสัมผัสของมนุษย์ก็แทบไม่ต่างกับเวลาที่เราเห็นภาพสีแดงแถบขาวโค้ง แล้วนึกถึง Coke
- แต่ทั้งนี้ การพูดถึง Sound Branding เป็นสิ่งที่นักการตลาดให้ความสนใจค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับการออกแบบโลโก้ หรือสิ่งที่เป็นภาพอื่นๆ อย่างเช่นเวลาเราเปิดตำรา Corporate Identity ของทางบริษัทเมื่อใด เราก็มักจะเจอแต่วิธีการใช้ฟ้อนต์ ใช้สี ใช้โลโก้ ให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ น้อยคนที่จะกล่าวถึง Identity ทางด้านเสียงของบริษัท
- เสียงเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากกว่าที่คิด จากงานวิจัยพบว่าเสียงมีผลต่อพฤติกรรมการซื้อของคน เช่น เพลงที่มีจังหวะเร็ว จะกระตุ้นการซื้อสินค้าของคน หรือหากเราเดินร้านกาแฟที่ไม่มีเพลงเปิดเราอาจจะรู้สึกแปลก และคนเราจะมีการผูกความทรงจำ ความรู้สึกบางอย่างกับเสียงของแบรนด์ เช่นเสียงบางเสียงทำให้รู้สึกหวนนึกถึงอดีต หรือนึกถึงความทรงจำดีๆบางอย่างได้
คุณท๊อปยกตัวอย่างจากแบรนด์ไอศกรีม Wall’s ที่ถือว่าเป็นเคสที่ใช้เสียงบอกเล่าเรื่องราวได้ดี ทั้งเสียงรถไอติมอันเป็นเอกลักษณ์ และเสียงอื่นๆที่อยู่ในคลิปเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการส่งต่อความสุข
การเริ่มต้นสร้างเสียงสำหรับแบรนด์
ก่อนจะสร้างเสียง แบรนด์ควรมีความชัดเจนใน DNA (หรือ Identity หรือ Character แล้วแต่แต่ละบริษัทกำหนด) ของตนเองเสียก่อน เพื่อที่นักการตลาดจะได้บรีฟคนที่จะช่วยสร้างเสียงให้เราได้อย่างถูกต้อง โดยอาจจะเป็น Keyword สั้นๆที่บ่งบอกถึงแบรนด์ของเรา
- และนักการตลาดควรมีความชัดเจนว่าเราจะนำ Sound ไปทำอะไร เช่น การประกอบโฆษณา การประกอบรายการ การประกอบต้นคลิป เพื่อให้บรีฟมีความชัดเจนด้านการใช้งาน
- การพัฒนาเสียงนั้นอาจเริ่มต้นพัฒนาที่จุดเล็กๆที่สุด เช่นการเริ่มจากตัวโน้ตที่เป็น Core หลัก ซึ่งมักเป็นโน้ตไม่กี่ตัว สู่ท่อนเพลงที่ยาวมากขึ้น หรือพัฒนาเป็นเพลงที่ทำให้คนรู้สึกติดหู และอาจนำไปสู่ Sound อื่นๆ ที่นำไปใช้ในโอกาสที่แตกต่างกัน แต่ยังมีองค์ประกอบบางอย่างที่ทำให้คนนึกถึงแบรนด์เดียวกัน
- ในบางกรณี หากเป็นงาน Event หรืองานเทศกาลที่จัดเป็นรายปี ก็สามารถสร้าง Sound ที่แตกต่างในแต่ละปี เช่นมีเพลง Theme ที่แตกต่างกันในแต่ละปีได้ แต่ตัวเนื้อหาของเพลง หรืออะไรบางอย่างยังต้องมีความชัดเจนใน Core DNA ของแบรนด์ หรืออีกวิธีหนึ่งนั้นอาจใช้ Sound ประกอบการปรากฏตัวของโลโก้ในทุกๆเบรค ทำให้คนจดจำได้
- การสร้าง Sound ที่ดีและโดนใจนั้นควรคำนึงถึงกลุ่มผู้ฟังเป็นหลัก โดยอย่างง่ายที่สุดอาจจะพิจารณาจากช่วงวัย ต้องศึกษาว่าลักษณะ Sound แบบใดที่ทำให้คนวัยใด รู้สึกแบบใด เช่นการทำให้คน Gen Z กับ Gen X รู้สึกสนุกนั้นอาจจะต้องใช้จังหวะที่แตกต่างกัน เป็นต้น
(ภาพจากในงานสัมมนา คุณท๊อปอธิบายถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างเสียง สู่ประสบการณ์ผู้บริโภค (Sound experience) ในรูปแบบที่หลากหลาย)
ซึ่งทั้งหมดนี้นั้นอาจจะฟังดูยากเกินกว่าการที่นักการตลาดจะแต่งเพลงขึ้นเอง พวกเราจึงมักติดต่อไปยัง Sound studio หรือ Sound designer ในลักษณะ Freelance ในการช่วยออกแบบเสียงที่เหมาะสมกับแบรนด์ของเราได้ แต่ทั้งนี้คุณท๊อปเองก็ได้ทิ้งท้ายว่า บริษัท ฟังใจ จำกัด ของคุณท๊อปเองนั้นก็มีบริการทางด้านนี้เช่นกัน หากท่านใดที่เริ่มต้นไม่ถูก สามารถติดต่อทางบริษัทฟังใจก่อนได้นะคะ
ติดต่อบริษัทฟังใจ https://www.facebook.com/hellofungjai
Contributor
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudhya
Full-time lecturer at a school of communication arts and freelance event planner. Living with a strong passion for experiential and event marketing. Her happiness is all about making event audiences smile and playing with her cats.