เบื่อด้วย Burnout อีก! คุยกับ ‘มะเฟือง’ นักจิตบำบัดเกี่ยวกับสารพันความล้าของคนทำงานช่วง COVID-19

จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่แกมบังคับให้ทุกคน Stay Home, Stay Safe หยุดอยู่กับบ้านและเผชิญโลกกว้างบน Online Platform แทน อาจทำให้วิถีชีวิตของหลายคนเปลี่ยนไป จากที่เคยสัญจรไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระก็อาจจะต้องกลายเป็นคนติดเตียง ติดโซฟาอยู่ที่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง จากที่เคยได้ออกไปท่องเที่ยวในวันหยุดหรือพบปะผู้คนในช่วงสุดสัปดาห์ ก็กลายมาเป็นการสิงอยู่กับหน้าจอตลอดทั้งวัน ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในปัญหาที่เกิดตามมาก็คือความรู้สึก Overwhelmed ที่ทุกอย่างพัดเข้ามาเยอะแยะไปหมด

ในบทความนี้ ทีมงาน UNBOX เลยได้เชิญ คุณมะเฟือง เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัดคนเก่ง เจ้าของเพจ Beautiful Madness by Mafuang มาพูดคุย เกี่ยวกับโลก Online VS. Offline กับการหาจุดสมดุล ภาวะ Burnout และวิธีการที่จะช่วยเติมไฟให้กับตัวเอง ถ้าหากช่วงนี้รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรงบันดาลใจ หวังว่าบทสัมภาษณ์นี้จะช่วยให้เพื่อนๆเข้าใจกับความรู้สึกตัวเองได้มากขึ้นค่ะ

Online VS. Offline จะหาจุดที่มัน Balance ที่สุดได้ยังไง?

คุณมะเฟือง: สถานการณ์ตอนนี้มันค่อนข้าง Tricky เพราะว่าหลายคนเวลา Work from Home ก็ต้องทำงานบน Laptop ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อก่อนตอนที่เรายังไปทำงานที่ Office ได้มันก็ยังมีการ Interact กับคนอื่นๆ มีการเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง แต่พอคราวนี้ทำงานอยู่ที่บ้าน อยู่แต่ในบรรยากาศเดิมๆ จ้องหน้าจอแบบเดิม แล้วเวลาที่จะพักก็ต้องไถเฟซบุค ดู Netflix ละ เปลี่ยนกิจกรรมแต่ก็ยังเป็นการจ้องหน้าจอเหมือนกัน ร่างกายเราอาจจะยังไม่ทัน Register ว่าเฮ้ย อันนี้ช่วงพักแล้วนะ ไม่ได้ทำงานแล้วนะ มันเลยอาจทำให้คนรู้สึกล้าได้ง่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพราะฉะนั้นที่เฟืองอยากแนะนำก็คือพยายามหากิจกรรมอย่างอื่นที่มันตัด Online Mode ของเราออกได้จริงๆ อย่างเช่น การนั่งอ่านหนังสือ ลงไปทำสวนบ้าง หรือแม้แต่การมองพระอาทิตย์ตก พยายามหากิจกรรมทำที่ห่างจาก Screen Time จริงๆ เพื่อที่จะบอกกับร่างกายตัวเองว่านี่คือเวลาที่ฉันจะพักผ่อนจริงๆ แล้วนะ

มีสัญญาณอะไรที่ร่างกายพยายามเตือนเราว่า ‘เธออยู่กับหน้าจอมากเกินไปแล้วนะ’ บ้างหรือเปล่า?

คุณมะเฟือง: มันยากตรงที่แต่ละคนจะมีอาการที่ไม่เหมือนกัน หลายครั้งที่เราอาจจะรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ปวดตา ปวดหัว ปวดท้องเครียด หรือว่ารู้สึก Obsessed เสพติดกับการอยู่ในโซเชียลมีเดียมากๆ เลยนะ แต่ร่างกายมันไม่หยุด เราอาจจะลองตั้งเวลากับตัวเองว่าวันนี้จะอยู่กับหน้าจอนานขนาดไหน เพราะถ้าปล่อยให้ตัวเองอยู่กับมันมากเกินไป อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการ Burnout ต่อได้

Burnout Syndrome มันคือความรู้สึกอย่างไร?

คุณมะเฟือง: เราจะรู้สึกว่ามันไม่มีแรงบันดาลใจจะทำอะไร หรือไม่มีแม้แต่อารมณ์ที่จะรู้สึกโต้ตอบกับอะไรเลย ใช้ชีวิตเหมือนเป็นหุ่นยนต์ มีอะไรเข้ามาก็ทำไปตามหน้าที่ให้จบๆไป ซึ่งเราเข้าใจนะว่าที่หลายคนเป็นอยู่อาจจะเป็นเพราะว่าทุกคนรู้สึกผิดที่จะ Burnout ซะด้วยซ้ำ มันเป็นชุดความคิดที่ว่าเราไม่ควรมาบ่นเรื่องงานเยอะ ควรจะรู้สึกโชคดีขนาดไหนแล้วที่ยังมีงานให้ทำอยู่ ซึ่งหลายคนกำลังเป็นแบบนี้อยู่จริงๆ นะ

แล้วมีวิธีเช็คตัวเองไหมว่าเรากำลังเริ่มขยับเข้าใกล้ภาวะ Burnout มากขึ้น

คุณมะเฟือง: เมื่อใดที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นหุ่นยนต์ เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีชีวิตและจิตใจ ซึ่งความเครียดและความรู้สึกเหนื่อยทุกคนมีได้อยู่แล้วล่ะ แต่การ Burnout มันคือจุดที่เราไม่รู้สึกอะไรแล้ว เหมือนทำไปวัน ๆ อยู่ไปวันๆ ปิดอารมณ์และใช้ชีวิตเหมือนหุ่นยนต์ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเรารู้ตัวเองไม่ทันมันก็อาจจะพัฒนาไปเป็น Depression หรืออาการทางจิตอื่นๆ ได้ เพราะมันคือภาวะที่คนรู้สึก Helplessness วิธีก็คือคอยเช็คกับตัวเองว่าเรายังรู้สึกมีชีวิตชีวากับเรื่องอะไรสักอย่างหรือเปล่า ยังเจอความสนุกหรือยังรู้สึกกับอะไรบางอย่างได้อยู่ไหม ถึงแม้ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ Negative ก็ตาม เพราะหลายครั้งที่เรา Burnout มันจะเป็นความรู้สึกที่เราขี้เกียจจะรู้สึกแล้ว เราจะไม่โกรธ ไม่รำคาญ ไม่ตอบรับกับอะไรเลย

ถ้าไฟในการใช้ชีวิตหรือไฟแห่งแรงบันดาลใจนี้เริ่มมอด เราจะ Spark มันใหม่ให้กับตัวเองได้อย่างไร?

คุณมะเฟือง: เขาใช้คำว่า Step out of your role into your soul เราอาจจะหาเวลาสักแค่ 5 นาทีในช่วงระหว่างวันเพื่อที่จะได้กลับมาเป็นตัวเอง ได้ Self Care ซึ่งตอนนี้มันอาจจะยากเพราะเราคงไม่ได้สามารถออกไปสปาหรือดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีนั้น แต่เราอาจจะลองหาเศษเสี้ยวของเวลาว่างในวันนั้นๆ ให้ได้อยู่กับ Soul ของตัวเองจริงๆ อย่างเช่น การแต่งหน้าในตอนเช้าก่อนเริ่มวัน หรือระหว่างล้างจานอาจจะเปิดเพลงที่เราเคยชอบฟังมันมาก อย่างเช่น เพลงของ Britney Spears ที่ทำให้เราได้ปลดปล่อยตัวเอง หรือว่าบางคนที่ชอบเพลงแจ๊สอาจจะเปิดฟังระหว่างอาบน้ำซึ่งมันก็อาจจะช่วยเตือนความจำว่า จริงๆ แล้วเราก็เป็นคนละเอียดอ่อนแต่ว่าแค่ในเนื้องานอาจจะไม่ได้มีโอกาสให้เราโชว์ด้านนี้ของตัวเองออกมามากนัก

นอกจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงนี้แล้ว มันมีปัจจัยอย่างอื่นอะไรอีกบ้างที่ทำให้เราอาจเกิดภาวะ Burnout ได้

คุณมะเฟือง: เฟืองคิดว่ามันคือโลกแห่งทุนนิยมด้วยที่เป็นปัจจัยที่ทำให้คน Burnout กันมากขึ้น อย่างแรกเลยคือเราปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคของ Capitalism มี Value ที่บอกให้เราทำงานไปเรื่อยๆ ยิ่งเรา Contribute ให้กับงานและองค์กรได้เยอะเท่าไร มันยิ่งหมายถึงว่าเรากำลังจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับมากเท่านั้น ซึ่งในโลกของการทำงานแบบเข้า 9 ออก 5 มันยากมากที่เราจะสามารถสัมผัสถึงผลงานจากใจจริง เพราะงานทุกอย่างมันถูกส่งกลับหาต้นทางหมดเลย ถ้าไม่นับว่า Passion ของคุณคือเงิน หลายคนก็จะเกิดคำถามว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร นี่คือสิ่งที่ใจเราต้องการจริงหรือเปล่า

อีกข้อคือโลกแห่งทุนนิยมเป็นโลกที่ไม่ได้ให้ค่ากับความรู้สึกหรือให้ค่ากับ ‘การพักผ่อน’ คนที่ทำงานไม่หนักพอจะโดน Shame เพราะฉะนั้นสำหรับการทำงานแบบ 9 to 5 นั้น ถ้า 5 โมงเย็นปุ๊บเราปิดคอมปั๊บจะรู้สึกผิดมาก มันจะเป็นความรู้สึกที่เราต้อง Do More ต้องทำให้มากขึ้นนะ และในวันที่ต้องพักจริงๆ มันจะกลายเป็นความรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าทำไมมันถึงว่างและโล่งจัง แล้วเราก็ต้องหยิบมือถือขึ้นมาเช็คข่าว เช็คหุ้น เช็คอีเมลซะหน่อย วันไหนที่ไม่ได้จับงานจะเป็นความรู้สึกผิด ร่างกายก็จะมองว่าการพักผ่อนเป็นอะไรที่ Negative

พอผสมกับสถานการณ์โควิดในตอนนี้ มันเลยกลายเป็นการ Burnout จากการทำงานอยู่แล้ว และความรู้สึกผิดที่จะ Burnout อย่างเคสนึงที่เฟืองได้คุยมา พี่เขาก็รู้สึกผิดที่มาบ่นเรื่องงานเพราะเขารู้ว่าหลายคนในตอนนี้ไม่มีงานให้ทำ มันเลยกลายเป็นความไม่กล้าที่จะ Process ความเหนื่อยของตัวเอง แล้วก็เค้นบังคับให้ตัวเองรู้สึก Appreciate จำนวนงานที่เยอะนี้ไว้ให้ได้ พยายามกดมันเอาไว้

วิธีแก้ก็คือ Be True to Your Feeling เวลาที่เรามีอารมณ์หรือภาวะที่มันเป็น Negative อย่างความเหนื่อย ความโกรธ ความท้อ ให้พยายามรู้สึกถึงมัน ถ้าไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นภาระของเราเพราะความรู้สึกเหล่านี้จะมาโชว์ผ่านทางอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง อาเจียนต่างๆ เราควร Acknowledge และจับให้ได้ว่าความรู้สึกนี้อยู่ที่ Level ไหนแล้ว

นอกเหนือจากเรื่องการทำงาน ภาวะหมดไฟที่หลาย ๆ คนเข้ามาปรึกษาคุณมะเฟือง ช่วงนี้คนประสบกับปัญหาหรือได้ผลกระทบทางใจจาก COVID-19 เรื่องอะไรอีกบ้าง?

คุณมะเฟือง: จริงๆ แล้วคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมีเรื่องราวที่หลากหลายมากและเยอะมากนะ แต่ถ้าเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือเรื่องการหา Meaning of Life อย่างช่วงนี้ที่ว่างหรือว่าลาออกจากงานแล้ว คนจะเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าเอาจริงๆ เราอยากทำอะไร เราชอบอะไรกันแน่ Direction ของชีวิตจะไปทางไหนต่อ ยังไงดีนะ อย่างเมื่อก่อนเราอาจจะมีเป้าหมายที่แน่นและไม่ได้มีใครคาดคิดว่าจะเกิด COVID ซึ่งเวลาที่ชีวิตเจอกับความไม่แน่นอน หลายอย่างที่เราเคยตั้งเป้าเอาไว้หรือว่าแพลนที่กำลังเดินตามอยู่มันก็พังไปเลย เฟืองก็พยายาม Work ไปเรื่อยๆ ในแต่ละเคสเพื่อหา Value ของแต่ละคนว่ามันคืออะไร เราก็พยายาม Explore บางเคสอาจจะย้อนกลับไปดูวัยเด็กของเขาว่าความชอบของเขาในตอนนี้มัน Match กับในสมัยนั้นไหม มันเป็นความรู้สึกใหม่หรือเปล่า เกิดขึ้นได้ยังไง ซึ่งทุกคนแตกต่างกันหมดเลย หน้าที่ของเราในตรงนี้ก็คือการช่วยเขาหา Value ว่า Core หรือตัวตนที่เป็นแก่นของเขาคืออะไร

อีกเรื่องก็คือปัญหาที่เกี่ยวกับ Relationship บางคู่อยู่ด้วยกันเยอะเกินไป บางคู่ไม่ได้เจอกันสักที หรือบางคนมีเวลาว่างที่จะอยู่กับตัวเองเยอะ ก็อาจจะมีการนั่งทบทวนเรื่องความสัมพันธ์ว่าจริงๆ แล้วคู่ของเราคือใช่หรือเปล่า เรายังรักเขาหรือเปล่า หรือว่าเราอยากกลับไปเป็นโสด มันมีหลายคำถามที่อาจเกิดขึ้นได้และก็อาจจะกระทบกับ Relationship Status ของคนๆ นั้น ซึ่งมันก็เป็นช่วงเวลาที่ Challenging เหมือนกัน

อีกหนึ่งปัญหาที่เราเชื่อว่าหลายๆ คนกำลังประสบก็คือความเครียดและความรู้สึกหดหู่จากการเสพข่าวสาร มีวิธีการจัดการกับความรู้สึกหรือพฤติกรรมการเสพข่าวของเราอย่างไรได้บ้าง?

คุณมะเฟือง: ถ้าเป็นคำแนะนำของเฟืองนะ การที่จะตัดการเสพข่าวไปเลยอาจจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ยังคงอยู่ในโลกของข่าวสารที่จำเป็นต้องรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และไม่ Ignore ไม่เพิกเฉยกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่างแรกที่เราทำได้คือการจัดตารางเวลาให้กับตัวเอง อย่างเช่นถ้าคุณรู้กิจกรรมในวันนั้น ๆ ว่ากำลังจะมีนัดหมายประชุมงานนะ หรืออย่างเฟืองเองที่มีนัดกับคนไข้ ช่วงเช้าของวันนั้นเราก็จะไม่แตะข่าวเลยแต่เปลี่ยนมาฟังเพลงแจ๊ส เพลงเรกเก้เพื่อปรับอารมณ์ให้สดใส พอทำงานของเราเสร็จแล้วค่อยเริ่มเช็กข่าว

อย่างที่สองก็คือการรู้จัก Trigger ของตัวเองว่าอะไรที่จะกระตุ้นความรู้สึกของเรา อย่างเช่น บางคนอาจจะไม่ชอบฟังเสียงข่าว ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นการอ่านแทน หรือถ้าเป็นคนที่ถูก Trigger โดยรูปที่ชวนให้หดหู่ ก็อาจจะต้องระวังตัวเองให้ใช้ Social Media เมื่อพร้อมจริงๆ เพราะว่าบน Platform พวกนี้เราไม่มีสิทธิ์เลือกว่าอยากเห็นอะไร ไม่เห็นอะไร ทุกอย่างถูกป้อนเข้ามา เราอาจจะเลื่อน Instagram ดูรูปหมารูปแมวอยู่ แล้วอยู่ดีๆก็มีรูปคนนอนตายแทรกเข้ามา เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่กำลังจะเข้า Social Media ให้บอกกับตัวเองว่าใจต้องพร้อม

อย่างที่สามก็คือคอยเช็คกความรู้สึกของตัวเองว่า ณ ตอนนั้นเรายังโอเคไหม มันคือ Concept ของ Mindfulness ที่หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามันคือการหายใจเข้า หายใจออก แต่จริงๆ แล้วมันคือการฝึกช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเองได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อเรามีความ Mindful ว่าเกิดอะไรขึ้นรอบตัวเราจะไม่รู้สึกแกว่งหรือเหลวแหลกไปกับเรื่องรอบตัวมากขนาดนั้นจนถึงขั้นที่มันเข้ามากัดกินใจ เวลาอ่านข่าวเราก็อาจจะฝึกจิตด้วยการบอกกับตัวเองว่า โอเค ตอนนี้กำลังจะเสพข้อมูลข่าวสาร เรารู้สึกอย่างไรกับมันบ้าง คอย Check In กับอารมณ์ตัวเองอยู่เสมอ

ในเมื่อเราหนีจากวังวนการรับข่าวสารไม่พ้น คุณมะเฟืองคิดว่า Social Media Detox ยังคงจำเป็นอยู่ไหม?

คุณมะเฟือง: เฟืองคิดว่ายังคงจำเป็นอยู่นะ แต่วิธีการอาจจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล บางคนอาจจะต้องหักดิบ บางคนอาจจะเป็นการใช้วิธี Harm Reduction อย่างเช่นการตั้งเวลาเลยว่าวันนี้เราจะเล่น Facebook 15 นาทีต่อวัน หรือ Instagram อีกแค่ 15 นาที และถ้ามีวินัยกับการเซ็ตเวลาให้กับตัวเองแบบนี้ เฟืองคิดว่ามันสามารถช่วยลดความตึงเครียดได้

สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการคอยเช็คสภาพจิตใจของตัวเอง ซึ่งคนที่มักจะได้รับผลกระทบจากข่าวมากๆ จะเป็นกลุ่มคนที่เป็น Activist เป็นนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม เพราะเขาจะมีความรู้สึกร่วม มีความสงสารให้กับบุคคลในข่าว เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่าคุณรู้สึกถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งหนักๆ คุณจะต้องดึงตัวเองออกมาแล้วเติมตัวเองให้เต็ม ดูแลสภาพจิตใจของตัวเองให้ดีก่อนแล้วค่อยเข้าไปอยู่ในโลกของ Social Media

เคล็ดลับในวันที่รู้สึกไม่โอเคเลยกับเรื่องรอบตัว มีวิธีการไหนที่จะพาเรากลับมาได้อย่างเร็วที่สุดไหม?

คุณมะเฟือง: สิ่งที่เฟืองชอบทำก็คือ Breathing Exercise อย่างเช่นก่อนเวลาที่จะเข้า Session กับคนไข้แล้วหัวเราไม่ไหวแล้ว เพิ่งจะเสพข่าวที่น่าหดหู่ใจมา เฟืองก็จะกลับมาโฟกัสที่ลมหายใจ หายใจเข้า นับ 1 ถึง 4 กลั้นหายใจ นับ 1 ถึง 4 แล้วหายใจออก ทำวนไปประมาณ 5 รอบ เมื่อลมหายใจของเราเริ่มช้าลง มันจะส่งผลไปที่สมองหรือร่างกายให้ Relax มากขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น เห็นทุกอย่างได้ชัดขึ้นค่ะ

สามารถติดตามคอนเทนต์และอัปเดตเพิ่มเติมของคุณมะเฟืองได้ต่อบน เพจ Beautiful Madness by Mafuang


Contributor

Nisara Sittatikarnvech

A full-time Content Editor, part-time travel and lifestyle blogger. Mint has found her passion to become a story teller through the use of text, images and videos since she graduated from Faculty of Arts, Chulalongkorn University. Moving from the status of a Junior Writer to Social Media Editor at CLEO magazine to Content Editor at LINE TODAY, she has learned that ‘content creation’ is what she lives for. She also founded a travel blog called Travelerspulse where she continues to share her stories from amazing journeys around the globe!

Contributor

Share this post with your friends

More Articles

blog
Pichapen Sorum

นักการตลาดต้องฟัง!! อัพเดทความรู้ในโลก SEO ของไตรมาส 3 ปี 2020

(บทความนี้แปลและดัดแปลงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เขียนโดย Amanda Powell เผยแพร่ผ่านเวปไซต์ DigitalMarketer วันที่ 15 กรกฎาคม 2020) เดินทางกันมาถึงครึ่งปี

Read More »
blog
Karn Triamsiriworakul

SMS Marketing ในวันที่โลกเต็มไปด้วย Notification

มีใครรู้สึกว่า SMS เป็นอะไรที่ตกยุคไปแล้วหรือเปล่าครับ? หรือสงสัยว่าคนสมัยนี้ยังรู้จัก SMS กันอยู่ไหม? จะรู้กันหรือเปล่าว่าคนยุค 90 เวลาจะส่งข้อความกันแต่ละที ต้องนั่งนับตัวอักษรกัน

Read More »
blog
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudthaya

ตามหาความดื่มด่ำในการทำงาน “Flow State of Mind”

เวลาคุณทำงาน หรือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเล่นดนตรี เล่นกีฬา หรือทำงานอดิเรกอื่นๆ คุณเคยมีความรู้สึกเหล่านี้หรือไม่ ดื่มด่ำกับกิจกรรมนั้นๆ และมีสมาธิมาก จนเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทำได้เรื่อยๆ

Read More »
Comodo SSL