ความสำคัญและเทคนิคการถ่ายภาพอาหารที่แบรนด์ควรรู้

การถ่ายภาพอาหารเป็นเรื่องทางศิลปะซึ่งแบรนด์และผู้ที่ทำธุรกิจควรรู้ไว้หากจะมีกิจการที่เกี่ยวกับอาหาร เพราะบางทีการถ่ายภาพนี้อาจมีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าอยู่มากกว่าที่คุณคิด

รูปอาหารมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้ายังไงบ้าง?


หากลองคิดถึงเมนูในร้านอาหารแล้ว ลูกค้าอาจจะโดนถล่มด้วยชื่อเมนูอาหารเป็นตัวอักษรจำนวนมากที่พวกเขาขี้เกียจอ่าน แต่การใส่ภาพประกอบเข้าไปช่วยเติมอารมณ์และความรู้สึกให้กับ Content เปลี่ยนความน่าเบื่อให้เกิดความน่าสนใจขึ้นมา

เมนูที่มีภาพช่วยทำลายกำแพงของความลังเลไม่แน่ใจที่จะสั่งอาหาร เพราะลูกค้าอยากได้สิ่งที่พวกเขาเคยเห็นมาก่อน ถ้าได้อ่านแต่ข้อความอย่างเดียวลูกค้ามักจะเกิดความลังเลว่าสั่งแล้วจะได้อาหารหน้าตาแบบไหน จนอาจจะจบลงด้วยการสั่งหนึ่งเมนูคู่กับน้ำอัดลมที่คุ้นเคย เพราะถ้าสั่งแล้วได้อะไรที่ดูไม่น่ากินมาก็คงจะทำให้เสียอรรถรสไปแล้วตั้งแต่ยังไม่ทันจับช้อน การมีภาพประกอบช่วยเพิ่มความน่าสนใจ อยากลอง ไปจนถึงทำให้ลูกค้าเกิดความคาดหวังและอยากรู้ว่าจะเป็นอย่างรูปจริงหรือไม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การสั่งอาหารมากกว่าที่ตั้งใจไว้

(เมนูที่มีแต่ตัวอักษรอาจจะไม่สะดวกกับผู้ที่มีปัญหาทางสายตาอีกด้วย)

สำหรับการโฆษณา มากกว่า 80% ของผู้ใช้งาน Social Media จะให้ความสนใจกับ Content ที่เป็นรูปภาพมากกว่า Content ที่เป็นข้อความอย่างเดียว หลักการเดียวกันนี้ก็ใช้ได้กับ Content เกี่ยวกับอาหารเพราะคนเราจำข้อมูลเป็นข้อความหรือเป็นประโยคได้น้อย แต่จำเป็นภาพได้ดี เหมือนที่หลายครั้งเรานึกถึงไอศกรีมในภาพโฆษณา แม้จะนึกไม่ออกว่าชื่อแบรนด์อะไร แต่ลองถ้าได้เห็นภาพอีกครั้งก็อาจจะจำได้ทันทีหรือเกิดความตั้งใจขึ้นว่าครั้งที่แล้วเห็นแต่ไม่ได้สั่ง ครั้งนี้จะลองสั่งเลยดีไหม

สำหรับร้านที่มีที่นั่งรับประทานอาหารอยากให้มีลูกค้าเข้าร้านก็ควรจะมีรูปอาหารในบรรยากาศของร้านเพื่อดึงดูดลูกค้ามาที่ร้าน ส่วนร้านที่มีแต่เดลิเวอรี่หรือสั่งถือกินก็ควรจะมีรูปอาหารที่ในสถานที่ต่าง ๆ หรือที่บ้านในลักษณะของการ Review เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพของผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับชัดเจนยิ่งขึ้น

ในเรื่องภาพลักษณ์ รูปอาหารที่มีคุณภาพสะท้อนความใส่ใจความตั้งใจของร้านได้ ลูกค้ามักจะคิดว่าถ้าร้านใส่ใจการถ่ายภาพสามารถถ่ายภาพอาหารของพวกเขาได้สวยงาม พวกเขาก็น่าจะใส่ใจกับการทำอาหารของเขาเช่นกัน รวมทั้งการแข่งขันในตลาดมีสูง หากเทียบกับแบรนด์ที่มีผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันแล้ว คนก็มักจะเลือกร้านที่รูปดูมีคุณภาพมากกว่าอยู่แล้ว หรือต่อให้ไม่ได้ถ่ายรูปของเราออกมาเว่อร์วังอลังการ แต่การถ่ายรูปให้ได้มาตรฐานอย่างน้อยก็จะได้ไม่ถูกนำไปพูดถึงในทางที่ไม่ดี

(ภาพอาหารเศร้า ๆ ก็ทำให้เราให้เศร้าได้จริง ๆ)

จำเป็นหรือไม่ที่ธุรกิจควรจะลงทุนกับช่างถ่ายภาพอาหารมืออาชีพ?

เหตุเฉพาะที่ทำให้แบรนด์อาหารต้องการช่างภาพมืออาชีพเพราะอาหารบางอย่างมาพร้อมความท้าทายว่าจะถ่ายอย่างไรให้ออกมาดูน่ากิน เช่น อาหารที่มีรสจืด อาหารที่คลุกเคล้ารวมกันจนมองไม่ค่อยเห็นรายละเอียด หรืออาหารนั้นอาจจะเสียสภาพเมื่อทิ้งไว้สักพัก ทำให้เก็บภาพได้ยาก อาทิ น้ำโซดาหมดความซ่า ฟองนมบนกาแฟแตกตัว ไอศกรีมละลาย ช่างภาพจึงควรจะต้องเก็บภาพให้ได้เร็ว หรือรู้เทคนิคที่จะเก็บภาพ Magic Moment ของอาหารเหล่านั้นไว้ให้ได้ มิฉะนั้นก็ต้องทำใหม่ เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและเสียเวลาไปอีก

(เพื่อจะถ่ายภาพนี้โดยใช้เวลาน้อยที่สุด อาจหมายถึงต้องมีการวางแผนจัดแต่งองค์ประกอบภาพไว้ก่อน ทำไอศกรีมออกมาในหลายรูปแบบเพราะรูปลักษณ์ของไอศกรีมไม่คงที่ จนกว่าจะได้ถ้วยที่สวยงาม อาจรวมไปถึงการใช้ของปลอมเข้ามาแทนเพื่อให้การเก็บภาพเป็นไปได้อย่างราบรื่น เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความเข้าใจและรอบคอบไม่น้อยเลยทีเดียว)


โดยรวมแล้วราคาค่าตัวของช่างภาพแต่ละคนแต่ละทีมก็แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ อุปกรณ์ และรสนิยม อาจจะดูว่าในราคาที่เราจ่ายรวมอะไรบ้าง อาทิ คุณภาพของกล้องที่ใช้ อุปกรณ์จัดไฟ พร็อพประกอบการถ่ายรูป นางแบบนายแบบ และ Food Stylist

หากเปรียบเทียบระหว่างช่างภาพที่ถ่ายรูปออกมาในลักษณะคล้ายกัน เราอาจจะคิดถึงเรื่องเวลาที่ใช้ในการทำงาน ความสามารถในการการันตีเวลาในการส่งมอบงาน ไปจนถึงความเชี่ยวชาญความพร้อมของอุปกรณ์ของเขาจะช่วยประหยัดเวลาเราไปได้เพียงใด ซึ่งหลายครั้งการถ่ายรูปอาหารทั้งเมนูอาจไม่จบในครั้งเดียว โปรเจคอาจกินเวลายาวนาน หากใช้ช่างภาพมืออาชีพช่วยให้ได้รูปคุณภาพดีในเวลาอันรวดเร็ว ก็จะได้นำรูปไปใช้งานได้เร็วด้วย

ปัจจัยที่มีผลต่อภาพถ่ายอาหาร

มุมที่ถ่ายภาพ: มีการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการถ่ายรูปอาหารจากด้านข้าง (Side Angle) เทียบกับมุมมองจากเบื้องบน (Overhead) ได้ข้อสรุปว่าโดยมากแล้วรูปอาหารที่ถ่ายจากด้านข้างจะดูมีความน่ากินกว่า ในขณะที่รูปที่ถ่ายด้วยมุมมองจากเบื้องบนจะดูมีความเป็นศิลปะและนำสมัยกว่า

นอกจากนี้ส่วนมากมองว่ารูปถ่ายจากด้านข้างเหมาะสำหรับลงใน Social Media ตรงข้ามกับมุมมองจากเบื้องบนนั้นควรใช้สำหรับ Print Ad อย่างเมนูร้านหรือโปสเตอร์ เพราะทำให้เห็นบรรยากาศรอบๆ ของอาหารมากกว่า ช่วยแสดง Brand Identity ได้มากขึ้น นี่ก็เป็นสิ่งที่เจ้าของแบรนด์อาจนำไปใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งว่าจะถ่ายรูปอาหารของเราออกมาอย่างไรให้เหมาะกับภาพลักษณ์แบรนด์ของเรา อีกเรื่องที่สำคัญก็คืออาหารที่มีความหนาก็ควรจะถูกถ่ายจากด้านข้าง

แสง: โดยทั่วไปแสงธรรมชาติเหมาะกับการถ่ายรูปอาหารมากที่สุด ทำให้อาหารดูสมจริงและน่ากิน รวมทั้งควรมีการควบคุม White Balance ให้เหมาะสมไม่ให้โทนภาพสีผิดเพี้ยนไปจนดูไม่เป็นธรรมชาติ

สี: โดยมากแล้วเพื่อให้อาหารดูน่ากินขึ้นภาพอาหารคาวมักจะถ่ายโดยใช้สีโทนอุ่น ให้ความสงบ ดูรับประทานแล้วอิ่มเอม ส่วนขนมและเครื่องดื่มหวานๆ มักจะใช้สีสด เพื่อให้แสดงความสนุก ได้บรรยากาศของการทดลอง ชวนให้ลิ้มรสว่าหวานหรือเปรี้ยวอย่างไร

การจัดจาน: เป็นการทำ Presentation ให้กับอาหาร สิ่งนี้ก็สะท้อนความตั้งใจในการทำอาหารได้เช่นกัน เชฟทั้งหลายจึงให้ความสำคัญกับการออกแบบอาหารของพวกเขาว่าควรจะถูกจัดเสิร์ฟอย่างไร ภาพอาหารบนจานมีผลทั้งกระตุ้นความอยากอาหารเมื่อเสิร์ฟและเอาไปใช้เพิ่มความน่าสนใจเมื่อลงโฆษณาตามช่องทางต่างๆ การจัดจานที่ทำให้อาหารบนจานเกิดความนูน มีความสูงต่ำ รวมกับแสงไฟในร้านและไฟที่ใช้ในการถ่ายภาพก็มีส่วนทำให้เกิดเงาขึ้นบนอาหารและทำให้อาหารดูมีมิติมากขึ้น ในขณะเดียวกันถ้ามีแสงเงามากเกินไปก็อาจจะทำให้มองไม่เห็นเนื้อสัมผัสของอาหารได้

อาหารบางชนิดอาจต้องการความดูเลอะเทอะนิดหน่อยเพื่อให้ดูมีความฉ่ำน่ากิน เช่น ชีสหรือซอสในเบอร์เกอร์ต้องเยิ้มๆ หน่อย ในขณะที่บางอย่างก็ต้องการความเป็นระเบียบ เช่น เค้กควรมีการแบ่งชั้นที่สวยงาม

องค์ประกอบภาพ: เราอาจใช้องค์ประกอบภาพในการสร้างบรรยากาศเพื่อเล่าเรื่อง ทำให้ผู้ชมจินตนาการถึงอาหารของเราในบรรยากาศต่างๆ ที่พวกเขาเองก็อยากจะได้สัมผัสบ้าง เช่น ตอนที่ชีสกำลังยืด อาหารกำลังมีควันกรุ่น อาจมีการเพิ่มองค์ประกอบเกี่ยวกับคนเข้าไป เช่น มือที่กำลังจับช้อนส้อมหรือถือแก้ว เพื่อให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองมากขึ้น ซึ่งก็ควรจะระวังด้วยอย่าให้อุปกรณ์ประกอบฉากดึงความสนใจไปจากอาหารของเรา

ความละเอียดของภาพ: เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะภาพที่มี Resolution สูงๆ สามารถแสดงเนื้อสัมผัสของอาหารในรูปได้

ตัวอย่างช่างภาพสายอาหารของไทยและต่างประเทศ

Poom Photographer ช่างภาพผู้มีผลงานทั้งที่ถ่ายให้กับแบรนด์ใหญ่และ SME

LightCulture ช่างภาพผู้ใช้เทคนิคการถ่ายภาพในการเก็บรายละเอียดของ Motion เกี่ยวกับอาหาร

Joanie Simon สำหรับใครที่อยากจะลองถ่ายภาพอาหารด้วยตัวเอง ช่างภาพคนนี้เป็นคนหนึ่งที่น่าติดตาม เพราะเธอเป็นเจ้าของช่อง YouTube “The Bite Shot” สอนเคล็ดลับการถ่ายภาพอาหารด้วย

Isabella Cassini ช่างภาพอาหารผู้มีผลงานแบบ “Splash” อันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้อาหารดูมีชีวิต ทั้งยังดัดแปลงใช้แสดงวัตถุดิบในการประกอบอาหารแต่ละชนิดได้ด้วย

การถ่ายภาพอาหารจัดว่าเป็นงานสร้างสรรค์ศิลปะอย่างหนึ่งที่เจ้าของร้าน เจ้าของแบรนด์รู้ไว้ก็มีประโยชน์ หรือบางคนเอามาทำเป็นกิจกรรมยามว่างก็อาจจะสนุกไปอีกแบบ แถมทำได้ง่ายด้วยเพราะอาหารเป็นเรื่องใกล้ตัวเราไม่ต้องออกไปนอกบ้านก็ถ่ายรูปอาหารเล่นได้

(ปลากระป๋องกับมาม่า รวมกับความคิดสร้างสรรค์สักหน่อยก็กลายเป็นงานอาร์ตขึ้นมาได้ ขอบคุณภาพจาก Studiokas)


นี่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถ่ายรูปอาหารที่ทีม UNBOX เก็บมาฝากกัน เพราะเห็นว่ามีส่วนสำคัญไม่น้อยกับการทำแบรนด์ทีเดียวครับ หากต้องการปรึกษาเรื่องการทำแบรนด์หรือธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร สามารถติดต่อทีมของเราได้เลยครับ

Contributor

Share this post with your friends

More Articles

Uncategorized
Mook Phipatseritham

Working from Home and using Video call? Use these tips for more Effective Communication, Work from home: ลองใช้เคล็ดลับเหล่านี้ที่จะทำให้การสื่อสารและการประชุมงานผ่านวีดีโอกลายเป็นเรื่องง่ายๆ

การทำงานจากบ้าน หรือ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Work From Home (WFH) ถือเป็น เทรนด์ใหม่ที่มาพร้อมๆกับอาการตื่นตัวกับไวรัส Covid-19

Read More »
blog
Supat Imyoo

3 ข้อแนะนำในการทำโฆษณาผ่าน Instagram story

นักการตลาดหลายท่านน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่าการทำการตลาดผ่าน Instagram คือเน้นสวย รูปต้องดี เห็นแล้วเข้าใจได้ง่ายเลยว่าจะสื่ออะไร เพราะ Instagram นั้นถือเป็น Platform ที่คนเข้ามาเสพความสวยงามซะเป็นส่วนใหญ่

Read More »
Comodo SSL