จบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะคะ สำหรับซีรี่ส์เรื่อง Itaewon Class หรือชื่อไทยว่า ธุรกิจปิดเกมส์แค้น ซึ่งเป็นซีรี่ส์เกาหลียอดนิยมจากที่กระแสตอบรับดีสุดๆของ Netflix ไปเรียบร้อยในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเรื่องนี้มีต้นกำเนิดมาจากการ์ตูนที่อยู่บน WebToon ของประเทศเกาหลี ที่นอกจากสาวๆ จะเพลิดเพลินไปกับเถ้าแก่พัคแชรอยแล้ว เรื่องนี้ยังแอบแฝงไปด้วยแง่มุมในการทำธุรกิจและการตลาด ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจได้อีกหลากหลายเลยด้วย ส่วนจะมีแง่คิดอย่างไรบ้างนั้น วันนี้ UNBOX BKK จะมาสรุปให้อ่านกันค่ะ
1. สร้างแรงบันดาลใจ ตั้งเป้าหมาย ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง
ความฝันสูงสุดของเถ้าแก่พัคแชรอยคือ…อยากรวย!!! เขาเริ่มตั้งเป้าหมายตั้งแต่วันที่เข้าคุกว่า เขาจะต้องรวย และจะต้องชนะชางกากรุ๊ปให้ได้! เขาต้องการมีร้านอาหารและมีแฟรนไชส์ทั่วโซล ดูเหมือนจะเว่อร์วังใช่ไหม แต่พัคแชรอยของเราไม่แคร์หรอก เมื่อเป้าหมายชัดเจนขนาดนี้แล้ว เขาจึงพยายามทำทุกทางเพื่อถีบตัวเองขึ้นไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ไปเรียนการประมง พัคแชรอยทำสำเร็จมาเรื่อยๆ ถึงแม้วันที่เถ้าแก่พัคแชรอยมีบริษัท IC เป็นของตัวเอง และบริษัทอยู่ที่อันดับที่ 9 เขาก็ไม่คิดจะหยุดพัฒนาตัวเอง เพราะเป้าหมายหลักของเขาคือต้องเป็นอันดับ 1 ในวงการอาหารในเกาหลีและทั่วโลก
ไม่มีฝันของใครใหญ่เกินจริงหรอกจริงไหม
2. Location. Location. Location.
ครั้งแรกที่พัคแชรอยเดินทางมาถึงย่านอิแทวอนในคืนฮาโลวีน เขาก็ตกหลุมรักย่านนั้นทันที และคิดว่าที่นี่แหละที่เขาจะเปิดร้าน เพราะย่านอิแทวอนนั้นเป็นย่านที่คนพลุกพล่านที่สุดในโซล มีคนวนเวียน 24 ชั่วโมง เป็นแหล่งรวมหลายวัฒนธรรม มีคนต่างชาติ นั่นหมายความว่าผู้ที่มาย่านนี้ต้องมีกำลังการใช้จ่าย
แม้กระทั่งตอนที่ผับทันบัมได้ย้ายไปที่ย่านคยองรีดัน ซึ่งเป็นแค่ถนนเล็กๆ ร้านก็อยู่ในซอย เถ้าแก่พัคแชรอยก็ไปช่วยปรับปรุงร้านเพื่อนบ้านให้ดูดีน่านั่ง ทำให้ถนนสายนั้นกลับมาคึกคักมากขึ้น ดึงดูดลูกค้าได้มากมาย
สำหรับธุรกิจที่ไม่มีหน้าร้าน สิ่งที่เป็น Location หรือ Place ของเราคือเว็ปไซต์ ต้องหมั่นดูแลและปรับปรุงอยู่เสมอเช่นเดียวกัน
3. ศึกษาตลาดและคู่แข่งตลอดเวลา
คู่แข่งอันดับ 1 และอันดับเดียวของเถ้าแก่พัคแชรอยคือท่านประธานชางแดฮี แห่งชางกากรุ๊ป พัคแชรอยใช้เวลา 2 ปีในคุกอ่านหนังสือประวัติของประธานชางแดฮีจนจำได้หมดทั้งเล่ม เพราะเขาต้องการทำแบบเดียวกับประธาน นั่นคือการเริ่มทำธุรกิจจากร้านอาหารเล็กๆ ในวันที่ทันบัมผับได้เปิดตัวแล้วแต่ลูกค้าน้อย พัคแชรอยก็เข้าไปดูร้านอื่นๆว่าเค้าทำอะไรกัน เพื่อมาเป็นไอเดียในการปรับปรุงร้านตัวเอง แม้กระทั่งชางกากรุ๊ปที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ก็จับตาดูความเคลื่อนไหวของทันบัมผับตลอดเช่นกัน ทันบัมผับสั่งวัตถุดิบจากใคร ทันบัมผับใช้อะไรโปรโมทร้าน ชางกากรุ๊ปจะตื่นตัวอยู่เสมอ
สิ่งที่สำคัญอันดับแรก เจ้าของธุรกิจต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า สินค้าหรือบริการของเราทำมาเพื่อจะขายใคร ทุกคนคงอยากตอบว่าใครก็ได้ที่มีเงินซื้อ แต่คำตอบนี้เหมือนจะกว้างและง่ายเกินไปหรือเปล่า
ครั้งหนึ่งที่ชางกึนวอนได้รับโจทย์ให้เพิ่มยอดขายให้ชางกาผับสาขาอิแทวอน เขาเสนอการใช้แอพหาคู่ในร้านเป็นเครื่องมือจูงใจลูกค้า แต่ไอเดียนี้โดนปฏิเสธเนื่องจากว่ากลุ่มเป้าหมายที่มาเที่ยวย่านอิแทวอนนั้นอายุ 20 กลางๆถึง 30 ปลายๆ และมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง จึงไม่สนใจการใช้แอพหาคู่ อีกทั้งทำให้เสียภาพลักษณ์ของแบรนด์ชางกาผับ ซึ่งเป็นแบรนด์หลักของชางกากรุ๊ปอีกด้วย
4. สินค้าและบริการของเราต้องดีควบคู่กันไป
รสชาติ บรรยากาศ คุณภาพที่เหมาะสมกับราคา แก่นแท้ของร้านอาหาร นี่คือคติที่พนักงานของชางกากรุ๊ปพึงท่องไว้ ชางกากรุ๊ปมีสูตรของชางกาโดยเฉพาะ มีเมนูเด็ด มีซอสปรุงรสของตัวเอง มีพนักงานที่ใส่ใจการบริการอย่างดีเยี่ยม ลูกค้าจึงไม่ลังเลเลยที่จะเดินเข้าชางกาผับ
เมื่อทันบัมผับเปิดแรกๆก็ได้รับคำวิจารณ์จากโซอีซอว่า อาหารยังไม่อร่อยมาก มาฮยอนอีต้องฝึกทำอาหารหลายครั้งกว่าจะได้มาตรฐาน ชเวซึงกวอนก็ใช้มือจับเข้าไปในชามในการเสิร์ฟอาหาร ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นจับที่ถาดแทน รวมถึง Service Mind ด้วยที่ตอนแรกพนักงานของทันบัมแทบจะไม่มีเลย โซอีซอต้องเข้ามาจัดระบบใหม่ทั้งหมด ลูกค้าเดินเข้าร้านต้องต้อนรับอย่างไร มาตรฐานของอาหารที่ร้านเป็นอย่างไร รวมถึงอาหารจะต้องมีสูตรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีเมนูแนะนำหรือที่เรียกว่า Signature Menu เช่นซุปเต้าหู้กิมจิสูตรเด็ดจากคุณพ่อของพัคแชรอยที่ทางร้านใส่ใจกับถั่วเหลืองหมักเป็นพิเศษ
คำว่าสินค้านี้ยังรวมถึงการแต่งร้านให้ดูน่าเข้า การเปิดเพลงคลอ บรรยากาศแรกของทันบัมผับ กับบรรยากาศปัจจุบันนี่คนละเรื่องกันเลย ทันบัมเป็นผับ ต้องสื่อถึงความสนุกสนาน ความสบายใจ ดังนั้นต้องทำร้านให้ปลอดโปร่ง มีสีสัน รวมถึงมีกิมมิคเล็กๆน้อยๆ เช่น เงาสะท้อนจากไฟ LED ชื่อทันบัมที่ส่องลงมาบนถนนหน้าร้าน
5. การตลาดแบบไหน เหมาะกับธุรกิจของเรานะ?
เราชอบฉากที่เถ้าแก่พัคแชรอยที่ลงทุนซื้อชุดหมีมาใส่แจกใบปลิวหน้าร้านทันบัมเมื่อตอนเปิดมาก แต่ฮัลโหล! นี่ปี 2020 แล้วค่ะอปป้า การแจกใบปลิวไม่เวิร์คอีกต่อไป ต้องใช้พลังจากสื่อดิจิทัลเท่านั้น (ไม่ใช่ My Homepage อย่างที่ชเวซึงกวอนบอกนะ) เริ่มจากโซอีซอใช้ความมีชื่อเสียงของตัวเองช่วยโปรโมทใน Social Media ของเขา การทำ Live สด สิ่งเหล่านี้ช่วยในเรื่อง Engagement หรือการมีส่วนร่วมของลูกค้า ที่สำคัญที่สุดคือเถ้าแก่พัคแชรอยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดใดเพิ่มเติมในการลงสื่อ Social ของโซอีซอ เพราะโซอีซอเป็นพนักงานของทันบัมผับอยู่แล้ว
เมื่อทันบัมผับเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่งแล้ว การไปออกรายการทีวีสุดยอดร้านอร่อยก็ยิ่งเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ และความน่าเชื่อถือเข้าไปอีก ในการแข่งขันรอบสุดท้าย ชางกึนซูได้ตั้งข้อสังเกตว่ากล้องจะจับที่หน้าของเชฟมาฮยอนอีเป็นพิเศษเนื่องจากเธอหน้าตาดีและโดดเด่นกว่าผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ นั่นหมายความว่าหน้าตาของเชฟหรือตัวแทนของร้าน ก็ถือเป็นการทำการตลาดอย่างหนึ่งของแบรนด์เราได้เหมือนกัน
การทำการตลาดจะต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านทั้งหมด และการตลาดที่ดีจะลงทุนไม่เยอะ แต่เกิดจากการบอกต่อจากลูกค้าสู่ลูกค้า (Word of Mouth) เช่น การแต่งร้านให้สวยและจัดจานอาหารให้ดูน่าทานจะทำให้ลูกค้าอยากจะมาถ่ายรูปเพื่อลง Social Media รสชาติอาหารที่ไม่เหมือนใครและบรรยากาศที่ Relax ทำให้ลูกค้าอยากกลับมาทานอีก หรือการที่ทันบัมผับมีพนักงานหน้าตาดีๆอย่างชางกึนซูและโซอีซอ ทำให้ลูกค้าอยากจะแวะมาเพื่อมาชื่นชมพวกเขา
6. Think out of the box กล้าลองสิ่งใหม่ๆ
ใครบอกว่าซุปหอยลายต้องรสชาติแบบนี้เท่านั้น เมื่อโทนี่โรยผงกะหรี่ลงไปแทนผงซุปปกติ และเกือบมีปากเสียงกับเชฟมาฮยอนอีในครัว แต่ใครจะรู้ว่าเมนูแปลกใหม่นี้เองที่สามารถทำให้ร้านทันบัมชนะใจกรรมการในรอบแรกของการแข่งขันรายการสุดยอดร้านอร่อยได้!
การคิดนอกกรอบไม่มีคำว่าถูกหรือผิด เป็นสิ่งที่ไม่ควรปิดกั้น เพราะไอเดียใหม่ๆอาจจะมาจากการที่เราไม่ได้เดินตามแผนที่วางไว้ก็ได้
7. Teamwork Makes the Dream Work
ผมกับพนักงาน จะตั้งใจทำร้านให้เป็นอันดับ 1 ของเกาหลีให้ได้ครับ เถ้าแก่พัคแชรอยได้กล่าวไว้ใน Live ของโซอีซอวันแรกที่เปิดร้านสาขาคยองรีดัน ลองคิดสภาพบริษัท IC ที่ไม่มีทีมงานทั้งหมด วันนี้คงไม่ได้มาไกลถึงขนาดนี้ ทุกคนมีความสำคัญต่อบริษัท ไม่มีมาฮยอนฮีก็ไม่มีอาหารอร่อยๆ ไม่มีชเวซึงกวอนก็ไม่มีคนเสิร์ฟและจัดการสต๊อกของ ไม่มีคุณสายสืบก็ไม่มีวัตถุดิบอร่อยๆ
ผู้คนเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เถ้าแก่พัคแซรอยเคยกล่าวไว้ว่าธุรกิจเป็นเรื่องของคน ผิดกับชางกาที่มองว่าธุรกิจเป็นเรื่องของกำไร แนวคิดแบบนี้ทำให้พัคแซรอยไม่เคยคิดจะไล่ลูกน้องของตัวเองออกเลย มีแต่จะช่วยผลักดันให้ดีขึ้น พัคแซรอยลงทุนกับคน คิดว่าทุกคนคือครอบครัว ไม่ตัดสินคนที่ภายนอก และให้โอกาสพวกเขาอยู่เสมอ มีครั้งหนึ่งที่รสชาติการทำอาหารของมาฮยอนอีไม่ดีเท่าที่ควรจนเธอมาขอลาออก แต่เถ้าแก่กลับบอกว่าฉันให้เงินเดือนเพิ่ม 2 เท่า ดังนั้นพยายามขึ้นอีก 2 เท่านะ ชเวซึงกอนที่เคยติดคุก พัคแซรอยก็ให้โอกาสมาทำงานที่ร้าน และช่วยผลักดันให้เขามีหน้าที่การงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆจนปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการแล้ว ตัวโซอีซอเองถึงจะอายุเพียง 20 และไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย แต่พัคแซรอยก็ไม่ได้รังเกียจที่จะรับเข้าทำงาน
พัคแซรอยเข้าไปคลุกคลีกับทีมงานตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่เขาประสบความสำเร็จ ไม่เคยใช้ความเป็นเจ้าของบริษัท IC มาบีบบังคับพนักงานให้ทำงานเกินเวลา แต่พนักงานเองกลับทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อทำให้เขาไปถึงเป้าหมาย โทนี่ก็ไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่ม โซอีซอก็ทำผลงานดีจนประธานชางแดฮีแห่งชางกากรุ๊ปวางแผนจะซื้อตัว พนักงานมีแนวคิดแบบเดียวกันนั่นคือการคิดว่าทุกคนเป็นครอบครัว ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นพนักงานกินเงินเดือนซึ่งเป็นสิ่งที่คนในชางกากรุ๊ปคิด
พัคแซรอยรักทีมงานทันบัมผับมากจริงๆ 😊
8. Never Give Up อุปสรรคต่างๆคือบททดสอบ
อุปสรรคในชีวิตเถ้าแก้พัคแชรอยช่างหนักหนาสาหัสเหลือเกิน ไปโรงเรียนวันแรกก็โดนไล่ออกแล้ว กำลังจะเปิดร้านอาหารคุณพ่อก็ดันมาเสียอีก คนที่ทำคุณพ่อเสียก็ไม่ใช่ใครแต่เป็น เพื่อนร่วมชั้นคู่อริและพ่อเพื่อนที่เป็นประธานบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เส้นสายแรงมาก พัคแชรอยใช้ชีวิตโดยที่คิดถึงพ่อทุกวัน นอนไม่หลับ
แม้โชคชะตาจะไม่เข้าข้างเขาเท่าไหร่ แต่เขาไม่เคยยอมแพ้ พยายามทำทุกทางเพื่อให้ตัวเองไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ เขาสามารถก้าวข้ามศักดิ์ศรีของตัวเองโดยการคุกเข่าให้ประธานชางแดฮี ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่อยากทำที่สุดในโลก เพื่อให้เขาผ่านพ้นอุปสรรคไปได้
แล้วสุดท้าย ประธานพัคแชรอยสุดเท่แห่งบริษัท IC ก็ไล่ตามความฝันของเขาสำเร็จสมบูรณ์โดยใช้เวลาทั้งหมด 15 ปี ถึงเวลามีความสุขสักทีนะ ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะท่านประธาน
น่าเสียดายที่วันศุกร์-เสาร์ต่อๆไปจะไม่มีตอนต่อไปของ Itaewon Class แล้ว แต่ทีมงาน UNBOX BKK เชื่อว่าซีรี่ส์นี้จะอยู่ในดวงใจของหลายๆคน หวังว่าทุกคนคงจะได้ข้อคิดในการทำธุรกิจไม่มากก็น้อยนะคะ 😊
Contributor
Nisha Nunbhakdi
A founder of UNBOX BKK by heart, a digital marketer by choice and a frequent traveller by habit. She believes in connecting the right people and business to the right opportunities. Her passion in helping people in all aspects of Digital Marketing is simply the services of UNBOX BKK