หลายครั้งที่ชาว UNBOX อาจมีอาการไอเดียตื้อตัน คิดงานไม่ออก ยิ่งคิดว่าคิดไม่ออกก็ยิ่งคิดไม่ออก เลยตัดสินใจไปนอนดีกว่า … ถูกต้องแล้วค่ะ😊 ไอเดียตื้อตัน คิดงานไม่ออกนั้นเป็นเรื่องปกติของคนที่ต้องทำงานในสายสื่อสารการตลาดที่ต้องการไอเดียสดใหม่ตลอดเวลาในเวลากันจำกัด และบางครั้งเมื่อสมองของคิดจนเหนื่อยล้ามากๆ จนเข้าขั้นเครียด เราก็มักรู้ตัวเองว่าจะให้คิดงานต่อไปนั้นก็ไร้ประโยชน์ สู้เอาเวลาไปนอนพักผ่อนให้ตื่นขึ้นมาปลอดโปร่งดีกว่า
แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนทำงาน จะให้หนีไปนอนตลอดทุกครั้งที่คิดงานไม่ออก แบบนี้ก็ไม่น่าจะเวิร์คสักเท่าไหร่ ทาง UNBOX จึงขอนำเสนอเรื่องราวของการสร้างไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ ในประเด็นที่น่าสนใจ เผื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้ลองหาทางฝึกการค้นหาความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่ตนเองถนัดกันค่ะ
1. ตามหลักจิตวิทยาที่อ่านพบได้บ่อยๆ ไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์มักปรากฏขึ้นเมื่อเราผ่อนคลาย เช่น ระหว่างการอาบน้ำ หรือระหว่างการวิ่งออกกำลังกาย เพราะไอเดียดีๆมักไม่ได้มาควบคู่กับความกดดันในห้องประชุมที่เราหมกมุ่นและโฟกัสกับเรื่องบางเรื่องและใช้แต่วิธีคิดแบบเดิมๆมากเกินไป แต่ความคิดสร้างสรรค์มักมาจากความอิสระในการมองนอกกรอบ … ซึ่งการมองนอกกรอบนี้แหละเป็นสิ่งที่เราพูดกันบ่อยๆ แต่ในชีวิตจริงทำกันจริงได้ยากเหลือเกิน
2. การมองนอกกรอบต้องอาศัยการฝึกหัดมากพอสมควร แบบฝึกหัดที่ง่ายที่สุดคือการหัดตั้งประโยค “ถ้า” ในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน หรือมีข้อจำกัดประหลาดๆ เช่น
- ถ้าเรามองในมุม ………….. จะคิดอย่างไร
- ถ้าหนังผีไม่มีผี จะเป็นอย่างไร
- หรือบางครั้งคำถามที่เจ็บปวดที่สุด ก็อาจให้คำตอบที่ได้วิธีการแปลกใหม่ เช่น “ถ้าเราอยากได้ผลแบบนี้ ในงบประมาณเพียงครึ่งเดียว จะทำอย่างไร”
และหากเมื่อได้คำตอบที่เราเองอาจจะรู้สึกว่าบ้าบอสักเล็กน้อย ก็อย่าเพิ่งปิดกั้นความรู้สึก หรือดูถูกว่าตัวเองโง่ เพราะในกรณีคำถามที่ขึ้นต้นด้วย “ถ้า” นี้ ไม่มีอะไรที่โง่สำหรับคำตอบ มีแค่เพียงคำตอบที่เราสามารถต่อยอดให้เป็นจริงได้ยากหรือง่ายแค่ไหนเท่านั้นเองค่ะ ซึ่งหลักในการ Brainstorm หลายๆที่นั้นจะกล่าวไว้ว่า เมื่อไอเดียของเราพลุ่งพล่านนั้น ในช่วงแรกจงปล่อยให้สุด อย่าเพิ่งปิดกั้นไอเดียด้วยข้อจำกัดใดๆ แล้วค่อยมาพิจารณาในภายหลังถึงหลักการและความเป็นไปได้
3. ตามทฤษฎีด้านการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการ Connect Dots หรือการเชื่อมโยงจุดในสมอง ศัพท์จิตวิทยานั้นอาจเรียกว่า Node(s) ซึ่งคือจุดความทรงจำที่ในสมองซึ่งสร้างจากสิ่งที่ผ่านเข้ามาในความทรงจำเรา อาจถูกจัดไว้อย่างเป็นระบบระเบียบหรือไม่ก็ได้ การฝึกให้สมองมีความคิดสร้างสรรค์นั้นคือการหัดเชื่อมโยง Nodes ต่างๆนั้นเอง โดยหากเราสามารถเชื่อมโยง Nodes ที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนแต่เข้ากันได้ดีอย่างน่าอัศจรรย์ใจนั้น ก็ถือว่าเป็นจุดกำเนิดความคิดสร้างสรรค์ที่ดีเยี่ยม
4. การเสพสื่อเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทันทีทันใดได้เสมอไป เช่น การอ่านหนังสือ ดูซีรีส์หรือภาพยนตร์แล้วจะได้ไอเดียใหม่ทันทีเลยนั้นอาจเป็นเรื่องที่ยาก (ยกเว้นแต่คนที่มีทักษะจริงๆ) แต่ไอเดียที่ดีมักเกิดจากการ Connect dots ระหว่างโจทย์ในปัจจุบันกับความทรงจำเก่าที่เราจัดเป็นระบบระเบียบ ดังนั้นการเสพสื่อให้สม่ำเสมอ และพยายามสรุปประเด็นต่างๆ รวมไปถึงความรู้สึกต่อสื่อนั้นๆ เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลในสมองให้เป็นระเบียบ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการจุดประกายความสร้างสรรค์ในภายหลังได้
5. อีกหนึ่ง Tips ส่วนตัวที่ทางผู้เขียนเองชอบ นั่นคือการลองหัดทำอะไรที่แปลกใหม่ ไม่ชำนาญ เช่นการเรียนทักษะใหม่ๆ จนไปถึงสิ่งที่จริงจังน้อยลงอย่างการลองเสพสื่อเนื้อหาใหม่ๆ หางานอดิเรกใหม่ๆ กิจกรรมกีฬาใหม่ๆ โดยเป้าหมายนั้น
ต้องเป็น “การเรียนรู้” ที่วันนี้เราได้อะไรใหม่ๆ ไม่ใช่ความเคร่งเครียดที่ “ความสำเร็จที่ปลายทาง” การเรียนรู้หลายๆอย่างแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานเราโดยตรง แต่มักให้วิธีคิด หรือ Logic ใหม่ๆในการประยุกต์ใช้ได้เสมอ ซึ่งบางครั้งเราอาจจะได้ Node ล้ำค่าจากการเรียนรู้กิจกรรมยามว่าง มาประยุกต์ใช้ในงานประจำวันก็เป็นไปได้
6. แต่คนเราทุกคนนั้นจะมีวิธีการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างกัน บางคนถนัดการคิดด้วยภาพ บางคนถนัดการเขียน Mind Map ไปเรื่อยๆ บางคนถนัดการทำไปเรื่อยๆเพื่อให้เรียนรู้ บางคนถนัดการอ่านแล้วเชื่อมโยง บางคนแค่ออกไปเดินเล่นพักผ่อนก็มีไอเดียใหม่ๆ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือเราต้องทำความรู้จัก Style ที่ตัวเองถนัดและรู้สึกสบายใจ อย่ารู้สึกท้อถ้าทำแบบคนอื่นแล้วยังคิดไม่ออก
7. หลายครั้งที่ไอเดียเปลี่ยนโลกนั้นเกิดจากการเรียนรู้และพัฒนาจากความผิดพลาด ดังตำนานการคิดค้นผลิตภัณฑ์ Post-it อันเกิดจากนักวิทยาศาสตร์ของ 3M ที่พยายามทดลองพัฒนากาวที่ติดแน่นและทนทานมากยิ่งขึ้น แต่กลับได้กาวที่เหนียว แต่ดึงออกได้อย่างง่ายดาย จึงใช้ประโยชน์ดังกล่าวในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลกอย่าง Post-it ดังนั้นในทุกๆความผิดพลาด ต้องลองถอดบทเรียนเสมอว่าเราสามารถพลิกผลที่ไม่ได้คาดหวังนั้นให้เกิดประโยชน์ใดบ้างได้หรือไม่
8. แต่ทั้งหมด อย่าลืมว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่ต้องเป็นสิ่งใหม่ ยิ่งใหญ่เสมอไป ความคิดสร้างสรรค์ที่แท้จริงนั้นอยู่ได้รอบตัวเรา และสามารถเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้โดยที่บางครั้งเราอาจไม่รู้ตัว เช่นในการทำอาหารนั้น หลายๆคนที่ทำอาหารจานเดิมบ่อยๆ อาจพบว่าตนเองมีการปรับสูตร หรือทดลองใส่อะไรแปลกใหม่เพื่อเพิ่มความสร้างสรรค์ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลักการนี้ก็คือหลักการแห่งความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดจากการสังเกต จดจำ กล้าทดลอง และปรับปรุง ดังนั้นอย่าท้อใจว่าตนเองไม่มีความคิดสร้างสรรค์กันนะคะ ลองมองกิจวัตรประจำวันของเราดูก็ได้ค่ะ
ดังนั้นแล้ววันไหนถ้าจะตื้อบ้าง จะตันบ้าง ก็ไม่เป็นไรนะคะ การสร้างไอเดียและความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งที่ฝึกหัดกันได้ แต่อย่าลืมหา Style ที่ตัวเองถนัด และควรเริ่มหัดเรื่อยๆอย่างสม่ำเสมอ ให้การลอง การเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องสนุกสำหรับเราค่ะ เพื่อที่วันที่เรารู้สึกว่าเร่งรีบและกดดันมากๆที่ต้องเค้นไอเดียออกมา เราจะสามารถรับมือกับมันได้อย่างดีขึ้นค่ะ
P.S. บทความเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์นี้ ก็มีที่มาจากการที่ผู้เขียนคิดไม่ออกว่าจะเขียนเรื่องใดดี เลยนั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้เรามีไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ ในการทำงาน
.. ก็เลยเขียนเรื่องนี้เองซะเลย แล้วกันค่ะ 🙂
Contributor
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudhya
Full-time lecturer at a school of communication arts and freelance event planner. Living with a strong passion for experiential and event marketing. Her happiness is all about making event audiences smile and playing with her cats.