ปฏิเสธไม่ได้ว่าจาก COVID-19 ที่อยู่กับพวกเรามาร่วมปี ก่อให้เกิดปัญหาในการทำงาน การใช้ชีวิต และแน่นอนว่ารายได้ที่ลดลงในหลายครัวเรือน จากการสัมมนา DAAT DAY 2021 – Winning Tomorrow Together คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) และประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ได้กล่าวไว้ว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงปีนี้คือผู้บริโภคมีความเครียดอย่างเห็นได้ชัด และนั่นส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย การตัดสินใจซื้อในรูปแบบต่างๆ
(ส่วนหนึ่งจากงานสัมมนา DAAT DAY 2021 – Winning Tomorrow Together
โดยคุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) และประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย))
โดยภาพรวมนั้นความเครียดจะส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในหลากหลายรูปแบบ บ้างก็ทำให้แห่ซื้อของจำเป็นมากยิ่งขึ้น หรือบ้างก็ทุ่มเทการซื้อของใช้เพื่อความสุขในบ้าน การผ่อนคลายจิตใจ Bangkok Post ได้เผยผลสำรวจจาก Hakuhodo Institute of Life and Living Asean (HILL Asean) in Thailand ร่วมมือกับ Socius Co. กล่าวว่า ในยามที่การล็อคดาวน์ค่อนข้างเคร่งเครียดนั้นพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นจะมีความสุขน้อยลง และมีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าของใช้ในบ้านที่จำเป็นมากยิ่งขึ้นจากความหวาดกลัวต่อภาวะความไม่แน่นอนต่างๆ แต่ท่ามกลางความตึงเครียดนั้น ยังมีกลุ่มคนบางส่วนที่ยังพอมีกำลังในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมทางช่องทางออนไลน์หาทางเรียนทักษะใหม่ และหารายได้เพิ่มเติมจากช่องทางดังกล่าว และกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครนั้น ยังมีกำลังซื้อสินค้าเพื่อความสุขภายในบ้าน เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ในห้องนอน หรือจับจ่ายใช้สอยเพื่อความสุขเล็กๆ น้อยๆ ตามวันเทศกาลต่างๆ หรือหาซื้อของขวัญให้คนสำคัญในวันพิเศษได้ เช่นในช่วงวันแม่เป็นต้น (อ่านต่อ https://www.bangkokpost.com/business/2160971/happiness-down-expenses-up)
นอกเหนือจากงานวิจัยในระดับเอกชนแล้ว นักวิชาการยังให้ความสนใจกับพฤติกรรมผู้บริโภคในประเด็นดังกล่าว โดยในหลักการทั่วไปแล้วนักวิชาการมักพบผู้คนเกิดความเครียดขึ้นจะเกิดพฤติกรรมได้ 2 ลักษณะคือ มีความละเอียดรอบคอบในการเก็บเงินมากขึ้น หรือไม่อีกทางหนึ่ง ผู้บริโภคอาจใช้จ่ายเพื่อระบายความเครียด ซึ่งหลักการนี้ยังใช้การได้กับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคโควิด Adolfo Di Crosta และคณะ ได้ศึกษาพฤติกรรมในประเทศอิตาลีกว่า 3,833 คน ในปี 2020 (โควิดระลอกแรก) พบว่าความตื่นตัวในการซื้อสินค้าเครื่องใช้ของจำเป็นในช่วงโควิด มีปัจจัยอันเกิดมาจากความหวาดกลัว แต่สำหรับสินค้าที่ไม่จำเป็นต่างๆนั้น เกิดจากความรู้สึกซึมเศร้าของผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อพฤติกรรมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิสัยส่วนบุคคล การรับรู้สถานะทางการเงินของตัวเอง และรูปแบบในการตัดสินใจซื้อส่วนบุคคล
ดังนั้นแล้วจึงไม่แปลกใจที่ในช่วงโควิดที่ผ่านมาเราจะเห็นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในบ้าน หรือเพื่อระบายความเครียดบางอย่าง อย่างของใช้ในบ้าน เครื่องหอมต่างๆ อาทิ เทียนหอม เป็นต้น ประกอบกับการรวมตัวของผู้บริโภคในกลุ่ม Facebook ที่มีความชอบและงานอดิเรกที่คล้ายคลึงกัน เช่นกลุ่มคนรักต้นไม้ กลุ่มจัดโต๊ะคอม กลุ่มแต่งบ้านให้แมวอยู่ กลุ่มเหล่านี้ไม่เพียงแค่เป็นช่องทางแสวงหาข้อมูลสำหรับผู้ที่มีงานอดิเรกในทางเดียวกัน แต่ยังเป็น Community ให้เกิดประเด็นการพูดคุยต่างๆ สร้างความเพลิดเพลินให้ผู้บริโภคในช่วงที่อาจไม่สามารถออกไปพบเจอเพื่อนฝูงได้ตามปกติเหมือนปีก่อนๆ และนำพาไปสู่เทรนด์การสั่งซื้อสินค้าบางอย่างที่เป็นกระแสจากกรุ๊ปเหล่านั้นในที่สุด
(ตัวอย่าง Facebook Group จัดโต๊ะคอม ที่ทำให้เกิดกระแสความนิยมในสินค้าสาย Gadget และการแต่งบ้าน)
ดังนั้นแล้ว 1 ปีกว่าที่ผ่านมาจึงถือเป็นโอกาสดีของสินค้าเครื่องใช้ในบ้านและสินค้าที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดของผู้บริโภคในรูปแบบต่างๆ แต่ก็แน่นอนว่าการแข่งขันของสินค้าเหล่านี้สูงมากเช่นกัน ตัวอย่างเช่น สังเกตได้จากในช่วงปีที่ผ่านมานั้นมีแบรนด์เทียนหอมผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก โดยไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายใหญ่ ก็ต่างนำสินค้าเข้ามาสู่ตลาด และเป็นการแข่งขันที่มีสีสันมากที่สุดประเภทหนึ่ง เนื่องจากเป็นสินค้า Handmade ที่สามารถออกแบบกลิ่นและบรรจุภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย และการลงทุนในขั้นเริ่มต้นนั้น ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายที่หนักหนากับอุปกรณ์หรือเครื่องมือขนาดใหญ่มากนัก
จึงเป็นความท้าทายว่า ในยามที่ผู้บริโภคมีความต้องการแสวงหาความผ่อนคลาย และสำหรับกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอจะจ่ายนั้น แบรนด์ได้พาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ถูกจุดและสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้อย่างเพียงพอหรือไม่ และสามารถช่วงชิงกำลังซื้อเหล่านั้นมาได้หรือไม่