5 งานดีไซน์เปลี่ยนโลก ที่บอกให้เรารู้ว่าการออกแบบที่ดีทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ!!

ในโลกปัจจุบัน เหตุผลที่มนุษย์อย่างเราสามารถใช้ชีวิตกันได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นกว่าเก่า คงต้องยกความดีความชอบให้กับพัฒนาการของเทคโนโลยีและงานดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้แต่ Gadget ชิ้นเล็กๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกิจกรรมที่เราทำในแต่ละวัน ล้วนแล้วแต่เป็นผลลัพธ์ของวิทยาการที่ก้าวไกล ซึ่งถูกนำเสนอผ่านรูปแบบของงานดีไซน์ที่คิดมาอย่างถี่ถ้วนเพื่อผู้บริโภค และช่วยแปลงองค์ความรู้นั้นๆ ให้กลายเป็นอะไรที่จับต้องและใช้งานได้

บทความนี้เราเลยขอพาคุณผู้อ่านทุกคนมาย้อนดูกันว่างานดีไซน์และเทคโนโลยีที่ว่าสามารถเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้อย่างไร ผ่าน 5 ผลงานชิ้นโบว์แดงนี้ที่เราต้องขอเชิดชู!

1. TOTO Washlet ชักโครกอัจฉริยะ

นอกจากรูปโฉมที่สวยงามแล้ว ชักโครกอัจฉริยะที่คิดค้นโดยบริษัท TOTO นี้คือหนึ่งในงาน Product Design ที่เป็นแม่แบบให้กับการพัฒนาโถส้วมในอนาคต รายละเอียดต่างๆ ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการใช้งานโถชักโครกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องฝารองที่นั่งที่เย็นเฉียบในวันที่อากาศหนาว ปัญหาสายฉีดชำระที่เกะกะ หรือการกดชักโครกที่สิ้นเปลืองน้ำมากในแต่ละครั้ง TOTO Washlet จึงมีฟังก์ชั่นที่ช่วยวอร์มฝารองนั่ง มี Wand หรือก้านฉีดชำระในตัวที่ยื่นออกมาเมื่อต้องการใช้งาน และผสมเทคโนโลยี EWATER+ ที่เปลี่ยนน้ำประปาธรรมดาให้กลายเป็นน้ำพร้อมประจุ ช่วยทำความสะอาดโถส้วมได้อย่างล้ำลึกยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะไปที่ไหนในญี่ปุ่น เราก็จะได้เจอกับเจ้าชักโครกอัจฉริยะนี้ และเป็นไอเทมที่ใช้แล้วรู้สึกขอบคุณนักคิดค้นและดีไซเนอร์ทุกครั้งที่ทำให้ชีวิตเราสะดวกและสบายได้ถึงเพียงนี้

2. กำแพงนำทางเพื่อผู้พิการทางสายตา

หนึ่งในเป้าหมายของนักออกแบบหลายคนสำหรับการดีไซน์ที่สาธารณะก็คือพวกเขาจะพยายามสร้างสรรค์พื้นที่สำหรับทุกคน โดยจะไม่ละทิ้งกลุ่มบุคคลใดบุคคลหน่ึงเอาไว้เพียงลำพัง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนชรา หรือผู้พิการ หมายความว่าไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถใช้ประโยชน์จากสถานที่เหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน

หนึ่งในตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีในหัวข้อนี้ก็คือ Hazelwood School โรงเรียนสำหรับเด็กที่พิการทางหูและสายตาในเมือง Glasgow ประเทศ Scotland และผลงานการออกแบบนี้เป็นของสถาปนิกที่ชื่อว่า Alan Dunlop เขาดีไซน์แผงนำทางที่ใช้ความนูนและผิวสัมผัสที่เป็นริ้วๆ ไว้บนกำแพงไม้คอร์ก เด็กๆ ที่พิการทางสายตาจะสามารถคลำทางของพวกเขาไปรอบโรงเรียนโดยใช้แผงนำทางนี้เป็นผู้ช่วยได้ เป็นไอเดียที่เจ๋งสุดๆ ไปเลย

3. OCEANIX เมืองลอยน้ำแห่งแรกของโลก

เมืองลอยน้ำแห่งแรกของโลกที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างบนน่านน้ำของเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ โปรเจกต์ยักษ์ใหญ่นี้ถูกเผยโฉมครั้งแรกเมื่อปี 2019 เป็นการจับมือกันระหว่าง UN-habitat องค์กรย่อยของสหประชาชาติ และบริษัทดีไซน์ bjarke ingels group (BIG) เพื่อสร้าง OCEANIX เมืองลอยน้ำนำร่องที่สามารถเป็นที่อยู่ให้กับประชากรมากถึง 3.4 ล้านคน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยหลักการ Zero Waste และทนต่อสภาพอากาศรวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆ อย่างน้ำท่วม สึนามิ และพายุเฮอริเคน ด้วยดีไซน์รูปหกเหลี่ยมของตัวเมืองที่เป็นเสมือนป้อมปราการให้แก่กัน

ไอเดียของโปรเจกต์นี้ตั้งต้นจาก Climate Change และภาวะโลกร้อนที่ทำให้มนุษย์ต้องรับมือกับภัยต่างๆ “แทนที่จะต่อสู้กับปัญหาน้ำ เราเปลี่ยนแนวคิดว่ามาลองหาวิธีอยู่กับมันอย่างสันติน่าจะดีกว่า” Maimunah Mohd Sharif ผู้อำนวยการ UN-habitat กล่าว ซึ่ง OCEANIX ก็ได้ถือกำเนิดจากแนวคิดนี้ ผสมผสานทั้งงานดีไซน์ เทคโนโลยี และคอนเซปต์ Sustainable Living เพื่อสร้างเมืองที่เป็นทางเลือกในอนาคตแห่งนี้ กำหนดแล้วเสร็จปี 2025 คงต้องรอดูกันว่าผลลัพธ์ที่ได้ของการรวมพลังเหล่านี้จะช่วยโลกได้มากแค่ไหน

4. STOJO ภาชนะยืดได้หดได้

จากคุณพ่อที่เป็นมนุษย์ออฟฟิศ ทำงานและใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบท่ามกลางความวุ่นวายของกรุงนิวยอร์ก 3 คน สู่การริเริ่มแบรนด์เล็กๆ ที่ประดิษฐ์ภาชนะยืดและหดได้สำหรับบรรจุอาหารและน้ำเวลาพกพา เป้าหมายของพวกเขาคือการเป็นส่วนช่วยในการลดขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นเป็นหลายแสนชิ้นในแต่ละปี และสร้างไลฟ์สไตล์แบบใหม่ของคนเมืองที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น STOJO เลยถือกำเนิดขึ้นเพื่อแทนที่ขวดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือแพ็กเกจบรรจุอาหารที่เรามักจะซื้อจากร้าานค้าสะดวกซื้อในวันที่เร่งรีบ

ด้วยดีไซน์ที่พับเก็บได้ พกพาได้ง่าย และมีออปชั่นสีและทรงให้เลือกที่หลากหลาย STOJO เลยกลายเป็นหนึ่งในไอเทมที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ได้อย่างง่ายดาย และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องของความสะดวกที่ STOJO หยิบยื่นให้พวกเราเท่านั้น การลดขยะพลาสติกและพกแก้วน้ำของตัวเองเวลาออกนอกบ้านก็เป็นการช่วยโลกซึ่งเป็นเป้าหมายของแบรนด์ด้วยเช่นกัน!

5. Pictogram กับการสื่อสารไร้ขอบเขต

งานกราฟิกดีไซน์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางศิลปะนี้มีชื่อเรียกว่า Pictogram หรือแผนภาพที่สื่อความหมายโดยไม่ต้องมีตัวอักษรมากำกับ ริเริ่มจากโอลิมปิกในปี 1964 ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ คิดค้นโดย 2 ดีไซเนอร์ Masasa Katzumie และ Yoshiro Yamashita พวกเขาได้กระชับช่องโหว่ด้านการสื่อสารข้ามภาษาด้วยการใช้ศิลปะและงานกราฟิกดีไซน์มาทำหน้าที่ตรงนี้แทน ซึ่งหลังจากโอลิมปิกเกมส์ในปี 1964 จบลง Pictograms ก็ถูกยึดเป็นต้นแบบและมีการพัฒนาเป็นเวอร์ชั่นของแต่ละปี จนมาถึง Tokyo Olympics 2020 ที่ผ่านมา Masaaki Hiromura ก็ได้ออกแบบ Pictograms ทั้งหมด 50 รูป สำหรับประเภทกีฬาทั้งหมด 33 ชนิด กลายเป็นหนึ่งในสีสันของโอลิมปิกที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุด

จากตัวอย่างทั้ง 5 บอกเราได้ถึงความสำคัญของงานดีไซน์ว่าไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่งานออกแบบที่ดีผสมกับเทคโนโลยีสุดเจ๋งช่วยอำนวยความสะดวกและทำให้การดำรงชีวิตของพวกเราง่ายดายขึ้นจริง ปี 2022 นี้ก็คงจะมีอีกหลายโชว์เคสดีๆ ที่ทยอยกันออกมา คงต้องคอยจับตาดูว่าจะมีอะไรเจ๋งๆ ออกมาให้เราเห็นกันอีกบ้าง

Contributor

Share this post with your friends

More Articles

Uncategorized
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudthaya

รวม Online Platform สร้าง Artwork สวยง่ายทันใจ ไม่ต้องใช้โปรแกรมซับซ้อน

ในยุคนี้จะบอก Content อะไรๆก็ต้องใช้ภาพประกอบดึงดูดไปเสียหมด แม้แต่ประกาศองค์กรง่ายๆหากอยากทำให้พนักงานจดจำนั้น การประกาศเป็นโปสเตอร์สวยๆสักชิ้น อาจจะทำให้คนสนใจและ Save เก็บไปได้ง่ายมากกว่าการประกาศในรูปแบบข้อความ แต่ปัญหาคือทุกคนไม่ได้เก่ง Adobe

Read More »
Comodo SSL