แม้สถานการณ์โควิดจะยังไม่คลี่คลายลง จำนวนผู้ติดเชื้อยังหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง แต่เหมือนว่าวงการอีเวนต์จะกลับมาคึกคักในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการกลับมาของการจัดงานขนาดใหญ่เต็มรูปแบบ เช่นงาน Bangkok International Motor Show 2022 ที่ผ่านมา รวมถึงงานบ้านและสวนแฟร์ SELECT ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน และงานสถาปนิกที่กำลังจะจัดขึ้นไม่ช้านี้
“เหมือนทุกอย่างถาโถมเข้ามาหลังจากเมื่อช่วงที่ผ่านมาเงียบจนแทบไม่ได้ออกจากบ้าน” สตาฟสายงานอีเวนต์หลายคนกล่าว หลังจากระลอกโควิดที่พัดผ่านไปมาหลายรอบ จนงานต้องเลื่อนออกไปหลายครั้ง หรือไม่ก็ลดขนาดลงจนเป็นงานออนไลน์ ที่ไม่ได้มีการว่าจ้างงานระบบและโครงสร้างชุดใหญ่ รวมไปถึงสตาฟเป็นจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา
(งาน Motor Show กลับมาจัดอย่างคึกคัก พร้อมการอัพเดตนวัตรกรรมยานยนตร์ใหม่ๆ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ขอบคุณภาพจาก Facebook: Bangkok International Motor Show)
(ช่วงปีที่ผ่านมา สาว ๆ พริตตี้ในงาน Motor Show หรือ Motor Expo สวมใส่หน้ากากที่ถูกออกแบบมาให้เข้ากับชุดเป็นอย่างดี เปรียบเสมือนหนึ่งในชุดแต่งกายที่คุ้นเคย ขอบคุณภาพจาก Facebook: Bangkok International Motor Show)
ทั้งนี้นักการตลาดต่างตระหนักดีว่า แม้สถานการณ์โควิดในเชิงสถิติจะยังไม่คลี่คลายลง แต่กิจกรรมการตลาดยังต้องดำเนินต่อไป และหลายๆ คนก็ค้นพบแล้วว่าประสบการณ์ทางช่องทางออนไลน์นั้นไม่สามารถทดแทนประสบการณ์ซึ่งหน้า (Face to face หรือ Offline) ได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่แท้จริงแล้วประสบการณ์ทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้จะต้องส่งเสริมกันในจุดที่เหมาะสม เช่นการใช้สื่อออนไลน์ Target ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และการใช้งานอีเวนต์ย้ำประสบการณ์ประสาทสัมผัส เช่นการเปิดบูธชงชิมนั้นก็ยังถือเป็นกลยุทธที่ละเว้นไม่ได้สำหรับบางแบรนด์
(First Pride แบรนด์อาหาร Plant-based ที่ใช้กลยุทธการตลาดกระตุ้นให้ผู้บริโภคได้ลองชิม เพื่อพิสูจน์ว่าอาหาร Plant-based นั้นมีรสชาตเหมือนเนื้อแท้ ๆ ได้จริง)
ทั้งนี้ มาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเริ่มเป็นสิ่งที่ผู้จัดงานและผู้เข้าชมต่างยอมรับกันโดยดี กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ท่ามาตรฐาน หรือ Normal” กันได้อย่างเต็มปาก โดยสถานที่จัดงานขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงโรงแรมต่างๆ มักให้ผู้จัดงาน และผู้รับเหมาตรวจ ATK ก่อนเข้างาน และการขึ้นเวที หรือถ่ายภาพด้วยการสวมใส่หน้ากากก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ยังนำมาซึ่งความสบายใจของทุกฝ่ายในงาน
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของการรวมคนเป็นจำนวนมาก ประกอบกับกระแสเทคโนโลยี Metaverse ถือว่ามาแรงมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายๆ แบรนด์จึงเริ่มนำเทคโนโลยีอีเวนต์เสมือนมาประยุกต์ใช้ภายในงานอีเวนต์ ซึ่งด้วยงบประมาณของเทคโนโลยีในด้านนี้ที่ยังค่อนข้างสูง เราจึงมักเห็นแบรนด์ใหญ่ๆ เป็นผู้ริเริ่มก่อนเสมอ ตัวอย่างเช่นงาน SCG Living Innovation ในช่วงวันที่ 5-10 เมษายน 2565 ที่นอกเหนือจะจัดงานจริงที่ SCG Home Experience ที่ CDC แล้ว ยังได้จัดงานในรูปแบบ Virtual Exhibition ในชื่อ LivingVerse บนเว็บไซต์ https://scglivingverse.com/H
ome/ อีกด้วย
(SCG Living Innovation ในรูปแบบ Living Verse ประกอบไปด้วย 5 Zone ที่น่าสนใจ)
(เมื่อเข้ามาในแต่ละโซน สามารถคลิกดูสินค้าที่น่าสนใจ พร้อมรายละเอียดได้)
แม้รูปแบบของ SCG LivingVerse นั้นอาจจะไม่ใช่การเข้าสู่ Metaverse แบบ 100% ที่เราสามารถใช้ชีวิตใน Avatar เพื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในโลกเสมือน และมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ แต่ตัวโลกเสมือนที่ถูกออกแบบมานั้นก็มีความสวยงาม เสมือนจริง และมีความเสถียรที่ทำให้ประสบการณ์การรับชมนั้นไม่ติดขัด เมื่อคลิกไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกเพลินเพลินดี และได้สัมผัสตัวแบรนด์ SCG ในฐานะความเป็นผู้นำด้านนวัติกรรมสมความตั้งใจของแบรนด์ แต่ก็ยังเป็นที่น่าสนใจว่าการสัมผัสสินค้าและบริการในรูปแบบออนไลน์นั้นจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าประเภทบ้านและการก่อสร้างมากน้อยเพียงใด หรือช่องทางออนไลน์นั้นถือเป็นช่องทางที่ดีที่ทำให้ผู้บริโภคได้ทำความรู้จักและรับทราบข้อมูลสินค้าก็จริง แต่ยังต้องอาศัยการสัมผัสของจริงที่ Store จึงตัดสินใจซื้อได้ (ตาม แนวคิด Omnichannel Marketing)
ดังนั้นแล้วต้องยอมรับว่ากิจกรรมตระกูล Verse ต่างๆ นั้นเริ่มมาแรงในสายการตลาดประเทศไทย โดยอาจจะเป็นการทดแทนกิจกรรมเล็กๆ เช่น กิจกรรม MOTOVERSE ในงาน Motor Expo ซึ่งเป็นการทดลองขับรถเสมือนจริง การใช้ระบบ VR AR รับชมรถยนตร์แบบ Interactive ที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการชมรถได้ตามใจชอบ โดยถือเป็น 1 กิจกรรมเล็ก ๆ ภายในงาน จนไปถึงการแทนที่งานอีเวนต์ทั้งงานแบบตัว SCG LivingVerse ข้างต้น
(กิจกรรม MOTOVERSE ในงาน Motor Expo ครั้งล่าสุด)
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม กิจกรรมตระกูล Verse ดังกล่าวอาจใช้งบประมาณที่ยังค่อนข้างสูง แบรนด์ที่จัดงานไหวจึงมักเป็นแบรนด์ขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ที่มีกำลังทรัพย์ระดับหนึ่ง สำหรับแบรนด์ขนาดกลางและขนาดเล็กจึงอาจยังไม่ใช่เวลาที่เอื้อมถึงเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างเต็มรูปแบบมากเท่าใดนัก แต่แบรนด์เหล่านี้ก็ยังสามารถใช้เทคโนโลยีอีเวนต์ได้ผ่านการการจัดงานในรูปแบบ Hybrid หรือรูปแบบออฟไลน์และถ่ายทอดสดไปพร้อมๆ กัน ด้วยรูปแบบการถ่ายทอดสดที่ในปัจจุบันเริ่มมีหลายรูปแบบ และหลายราคา ตั้งแต่กล้องเดี่ยวตัวเล็กๆ ในราคาหลักพันหรือหมื่นต้นๆ จนไปถึงกล้องคุณภาพ Professional Broadcasting ในราคา 5-6 หลัก ก็สามารถเลือกสรรได้
ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าจะแบรนด์เล็กหรือแบรนด์ใหญ่ การเปิดประสบการณ์ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ให้ผู้บริโภคไปพร้อมๆ กันนั้น เป็นไปได้เสมอค่ะ : )