เจาะลึกอาชีพ PR ของโอฮันบยอล จาก Sh**ting Star

ภาพประกอบจาก Facebook Fanpage TvN Drama และ TvN International

วินาทีนี้ หนึ่งใน Series ที่เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดใน VIU ก็คือ Sh**ting Star ว่าด้วยเรื่องราวคนเบื้องหลังวงการบันเทิงในค่ายศิลปิน ที่กว่าจะปั้นและดูแลดาราแต่ละคนในวงการนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ต้องเจออุปสรรคและจัดการกับสารพัดข่าวที่ถาโถมเข้ามา โดยนางเอกของเรื่องที่เป็นคนจัดการข่าวสารของค่ายทุกอย่างได้อยู่หมัดนั่นก็คือ โอฮันบยอล (รับบทโดย อีซองคยอง) หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์ของบริษัท Star Force Entertainment รับบทคู่กัดกับพระเอกซุปเปอร์สตาร์ประจำค่ายอย่าง กงแทซอง (รับบทโดย คิมยองแด) เรื่องราวไม่ได้ดำเนินไปด้วย Love Line สุดน่ารักสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังแฝงประเด็นการทำงานในสายประชาสัมพันธ์ของนางเอกสาวได้อย่างแนบเนียน ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวอันหนึ่งอันเดียวกับเส้นเรื่องได้อย่างไม่ขัดเขิน

บทความตอนนี้ของ UNBOX จึงจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกับอาชีพนักประชาสัมพันธ์ของ โอฮันบยอล กันให้มากขึ้น แน่นอนว่าตอนนี้หลายๆ คนน่าจะเข้าใจว่าอาชีพนักประชาสัมพันธ์แบบโอฮันบยอล ไม่ได้มีหน้าที่นั่งเคาท์เตอร์ตอบคำถามคนที่ผ่านไปมา (ตำแหน่งนี้จะเรียกว่าเจ้าหน้าที่ประจำจุดประชาสัมพันธ์) แต่แท้จริงแล้วนักประชาสัมพันธ์ในฐานะส่วนหนึ่งของการสื่อสารการตลาดองค์กรจะมีอะไรบ้าง เราไปเรียนรู้จากโอฮันบยอลกันเลยค่ะ

*บทความนี้เขียนเมื่อ Sh**ting Star ออกอากาศถึงตอนที่ 6 ประเทศไทย และไม่มีการเปิดเผยเรื่องราวส่วนสำคัญที่ทำให้อรรถรสการชมลดน้อยลง (No spoiled)

บทบาทเชิงรุก

1. สร้างภาพลักษณ์อันดีให้ศิลปิน
ถือเป็น Job Description อันดับ 1 ของชาว Public Relations หรือ PR นั่นก็คือการสร้างภาพลักษณ์ให้กับบริษัท หรือสินค้าของบริษัท ซึ่งในที่นี้ก็คือศิลปินในสังกัด Star Force Entertainment ซึ่งไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์อันดี เพราะคำว่าดีนั้นคงไม่เป็นที่จดจำ แต่ศิลปินแต่ละคนย่อมมีภาพลักษณ์ (Image) ที่โดดเด่นแตกต่างกันออกไป เช่นลุควัยรุ่น ลุคผู้ใหญ่ ลุคครอบครัว ลุคอบอุ่น เป็นต้น ดังนั้นแล้วเราจึงเห็นในตอนหนึ่งที่โอฮันบยอล มีสิทธิร่วมตัดสินใจบทบาทละครที่เหมาะสมกับกงแทซอง พระเอกของเราค่ะ

2. เขียนข่าวโปรโมทเชิงรุก
ไม่ต้องรอให้เกิดเหตุด่วนเหตุร้าย แต่เมื่อใดก็ตามที่ศิลปินมีผลงานใหม่ หรือแม้แต่ไม่มีผลงานใหม่ แต่มีความเคลื่อนไหวอื่ ๆ ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่ต้องช่วงชิงพื้นที่สื่อให้นักแสดงให้ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เหล่าศิลปินดาราเหล่านั้นได้อยู่ในสายตาผู้ชมตลอดเวลา ก็ดารามันเยอะ ถ้าหายไปนานคนก็ลืมกันได้นะคะ

3. สร้างความสัมพันธ์อันดีกับนักข่าว
ซึ่งในการส่งข่าวเหล่านั้น แน่นอนว่าฝ่ายประชาสัมพันธ์ย่อมต้องส่งให้นักข่าวเป็นหลัก ดังนั้นแล้วฝ่ายประชาสัมพันธ์ย่อมต้องมีความสัมพันธ์อันดีเลิศกับนักข่าว ทั้งนี้เพื่อช่วงชิงพื้นที่สื่อ และโน้มน้าว Mood and Tone ที่นักเขียนนั้นเป็นไปตามที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ต้องการ เช่นชื่นชม หรือ Cheer Up ศิลปินเราในทางที่ดีสักหน่อย หรือจะผ่อนเรื่องร้ายให้กลายเป็นข่าวเบาก็เป็นไปได้นะคะ

บทบาทเชิงรับ

1. ตอบคำถามแทนศิลปินเวลามีประเด็น

สิ่งที่เราเห็นบ่อยๆ ในซีรีส์เลยนั่นก็คือ โอฮันบยอลจะรับสายนักข่าวตลอดเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีอย่างศิลปินในสังกัดให้กำเนิดบุตร หรือข่าวเดท ข่าวไม่ดีต่างๆ ซึ่งโดยปกติแล้วนักข่าวจะไม่สามารถเข้าถึงศิลปินได้โดยตรง จะต้องโทรถามจากทางค่ายเพื่อให้ค่ายยืนยันก่อน ดังเช่นเราอาจจะเคยได้ยินข่าวจากทางเกาหลีว่า ทางค่ายยืนยันว่าศิลปิน X เดทกับ ศิลปิน X จริง เพราะทางเกาหลีเค้าจะซีเรียสเรื่องข่าวความสัมพันธ์มากๆ เลยค่ะ ดังนั้นแล้วฝ่ายประชาสัมพันธ์จึงควรมีทักษะที่สำคัญยิ่งคือการตอบเรื่องร้ายออกมาให้ละมุนละม่อมมากที่สุด เลือกใช้คำที่ดี ปลอดภัยมากที่สุดกับตัวศิลปินและองค์กรเองค่ะ

2. ตรวจเช็ค Feedback เชิงลบในโซเชียลมีเดีย และแถลงต่อสาธารณชน

เพราะหน้าที่ของฝ่ายประชาสัมพันธ์นั้นต้องเข้าใจกระแสสังคมให้มากที่สุดก่อนที่จะตอบคำถามออกสื่อ ดังนั้นแล้วฝ่ายประชาสัมพันธ์จึงมีหน้าที่ในการทำความเข้าใจข่าวลบ รวมไปถึงต้องเข้าใจถึงต้นตอของข่าวด้วย จากนั้นแล้วหากเป็นองค์กรใหญ่ๆ โดยทั่วไปฝ่ายประชาสัมพันธ์ต้องทำหน้าที่เขียนแถลงการต่อสาธารณชนเกี่ยวกับข่าวหรือดราม่าที่เกิดขึ้น โดยประชาชนนั้นจะถือว่าสิ่งที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์เขียนนั้นเป็นข้อความทางการที่ผู้บริหารองค์กรเห็นชอบ และถือเป็นคำตอบหนึ่งเดียวสูงสุดขององค์กรแล้วค่ะ

3. เป็นหนึ่งในทีมแก้ปัญหา เข้าร่วมตัดสินใจประเด็นปัญหาใหญ่ๆ ทุกอย่าง

ทุกครั้งที่เกิดปัญหาใหญ่ของบริษัท เราจะเห็นโอฮันบยอลนั่งเป็นส่วนหนึ่งในการออกความเห็นและแก้ปัญหาเสมอ ทั้งนี้เพราะฝ่ายประชาสัมพันธ์จะต้องคำนึงถึงความคิดเห็นและกระแสสังคมหลังจากการตัดสินใจเสมอ บ่อยครั้งที่การตัดสินใจที่ถูกต้องอาจจะไม่ถูกใจสังคม และการตัดสินใจที่ถูกใจสังคมก็ไม่ได้ถูกต้องตามกฏระเบียบเสมอไป ตามที่เราอาจจะเห็นได้ตามข่าวบ่อยๆ ดังนั้นแล้วน้ำหนักความเห็นของฝ่ายประชาสัมพันธ์จึงสำคัญมากในการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ของบริษัทค่ะ

นับจน Episode ที่ 6 แล้วเรานำเสนอเรื่องราวอาชีพนักประชาสัมพันธ์ได้ตามข้อความข้างต้น แต่แท้จริงแล้วยังมีอีกหลายบทบาทที่เราอาจจะยังไม่ได้เห็น เช่นการเชิญสื่อ การเชิญผู้มีชื่อเสียงในรูปแบบอื่นๆ เข้าร่วมแคมเปญต่างๆ แต่ก็ต้องนับว่า Sh**ting Star ได้เปิดเผยอาชีพนักประชาสัมพันธ์ได้ค่อนข้างครบถ้วน และทำให้เราได้เห็นว่าอาชีพนี้ไม่ได้เพียงแค่บุคลิกดีก็ทำได้ แต่ทักษะการสื่อสารทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน นั้นสำคัญมาก และยังต้องฉลาดในการเลือกใช้ภาษาสื่อสารมากอีกด้วย ซึ่งใครที่สนใจ อาชีพนี้ก็ยังมีสอนในระดับปริญญาตรีในคณะนิเทศศาสตร์หลายๆ มหาวิทยาลัย จนไปถึงคอร์สระยะสั้นเพื่อฝึกบางทักษะก็มีนะคะ

วันนี้ขอนำเสนอเพียงแค่ส่วนหนึ่งของอาชีพในสายงานสื่อสารการตลาดก่อน รอบหน้าอยากให้ UNBOX เขียนถึงซีรีส์ใดในมุมการตลาด หรืออาชีพที่เกี่ยวกับการตลาดที่น่าสนใจ บอกมาได้เลยนะคะ รับชม Shooting Star ได้ที่

https://www.viu.com/ott/th/th/vod/433651/Shting-Stars

Contributor

Share this post with your friends

More Articles

blog
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudthaya

Study Hard, Play Harder: ตามส่องกิจกรรมวัยรุ่นช่วง Study from Home

เป็นเวลาร่วมเกือบ 1 เดือนถ้วนแล้ว ที่มหาวิทยาลัยในไทยประกาศงดการเรียนการสอนในรูปแบบชั้นเรียน และปรับรูปแบบมาเป็น E-Learning ผ่าน Platform หลากหลายรูปแบบเช่น Zoom,

Read More »
blog
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudthaya

COVID-19 กับความเครียดของผู้บริโภค

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจาก COVID-19 ที่อยู่กับพวกเรามาร่วมปี ก่อให้เกิดปัญหาในการทำงาน การใช้ชีวิต และแน่นอนว่ารายได้ที่ลดลงในหลายครัวเรือน จากการสัมมนา DAAT DAY 2021

Read More »
Comodo SSL