ความเปลี่ยนแปลงของแอปฯ จองโต๊ะร้านอาหารในยุค COVID-19

การเข้าคิวเป็นเรื่องธรรมดา แต่การต้องไปนั่งรอเรียกคิวต่างหากที่เป็นเรื่องน่าเบื่อ โดยเฉพาะการจองคิวร้านอาหารที่คนไม่อยากเสียเวลาไปนั่งโมโหหิวอยู่ที่หน้าร้าน แอปพลิเคชั่นซึ่งแก้ปัญหานี้ได้จึงมีที่ยืนในตลาดโลก วันนี้ทีมงาน UNBOX จึงอยากพาทุกคนมาเปิดหูเปิดตาเกี่ยวกับแอปฯ แนวนี้ และการปรับตัวของพวกเขาเมื่อถึงวันที่ประชากรโลกเลิกเข้าคิวและหันมาเก็บตัวอยู่บ้าน

ความสำเร็จของแอปฯ ในทศวรรษที่ผ่านมา

จากเดิมที่เราโทรศัพท์หรือ LINE ไปขอจองโต๊ะอาหารกับทางร้านโดยตรง ทุกวันนี้เรามีแอปฯ ที่ทำงานเป็นบุคคลที่ 3 ช่วยประสานงานระหว่างเรากับร้านอาหารให้ ความสะดวกนี้มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายและ Commission ที่ตกแก่ฝั่งร้านอาหาร แต่อย่างไรก็มีปัจจัยที่ทำให้ร้านอาหารอาจต้องยอมจ่าย เพราะแอปฯ เหล่านี้มักมาพร้อมกับระบบช่วยจัดการร้านอาหาร มีฟีเจอร์ได้มากมายตามราคาที่ร้านอาหารพอใจจะจ่าย โดยทั่วไปมีค่าบริการรายเดือนที่ต้องชำระเป็นประจำอยู่แล้ว บางแอปฯ ได้ค่า Commission จากยอดรายการอาหารที่ร้านอาหารขายได้ให้กับโต๊ะที่จองเข้ามาผ่านแอปฯ และบางแอปฯ เก็บค่า Commission ตั้งแต่ตอนที่ลูกค้ามาปรากฏตัวที่ร้าน คิดเป็นรายหัวตามจำนวนลูกค้าที่มาอีกด้วย

(ตัวอย่าง Price Plan ของ Tock หนึ่งในแอปฯ ต่างประเทศที่ให้บริการจองโต๊ะร้านอาหารและจัดการร้าน)

แอปฯ เหล่านี้เป็นที่นิยมมากโดยเฉพาะในต่างประเทศเพราะเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับธุรกิจร้านอาหารไม่ว่าในสเกลไหนๆ โดยปัจจุบันมีบริษัทแอปฯ จองร้านอาหารจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมากกว่า 30 บริษัท ให้บริการร้านค้ามากกว่า 30,000 แบรนด์ หลายแอปฯ ขยายประเภทธุรกิจจากการให้จองที่นั่งในร้านอาหารไปสู่การจองเข้าร่วม Event เช่น Food Testing, Wine Testing, ชงชา,อบขนมปัง หรือแม้แต่บัตรผ่านเข้านิทรรศการศิลปะต่างๆ

(ในต่างประเทศ Wine Testing เป็นที่นิยมมาก ประเทศไทยก็พอมีบ้างแต่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม อาจจะต้อง Test ผลไม้แทน)

ประโยชน์ของแอปฯ จองร้านอาหารที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้
ลูกค้านักกินได้ประโยชน์จากการที่ไม่ต้องไปนั่งรอคิวหน้าร้าน ทั้งยังได้รับข่าวสารเมื่อร้านอาหารต่างๆ เปิดรับจอง สะสมแต้มหรือใช้โปรโมชั่นผ่านแอปฯ โดยทั่วไปก็ใช้แอปฯ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเสียด้วย เพราะประโยชน์สูงสุดของแอปฯ เหล่านี้ ตกอยู่กับฝั่งของร้านอาหารที่ใช้บริการซึ่งเป็นผู้ที่จ่ายเงินให้กับแอปฯ เป็นหลัก

1. ระบบรับจองคิวออนไลน์จัดการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ดังนั้นจึงรับจองได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องให้พนักงานมาคอยรับโทรศัพท์ ลดภาระพนักงานในการรับสายโทรศัพท์และตอบแชท

2. นำไปผนวกกับระบบ Table Management ช่วยบริหารร้าน จัดการออเดอร์แต่ละโต๊ะ รับออเดอร์หน้าร้านส่งไปให้ในครัว Point of Sale (POS) ระบบช่วยจัดการเรื่องบัญชี ออกบิล ใบเสร็จ หลักฐานการรับเงิน เพื่อดูแลลูกค้าหน้าร้านในปัจจุบันและให้บริการลูกค้าจองคิวที่จะเข้ามาใช้บริการในอนาคตไปพร้อมๆ กัน

3. Customer Relationship Management (CRM) สร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าผ่านระบบจัดการข้อมูลสมาชิกที่เราสามารถดึงไปทำแคมเปญส่งเสริมการขายได้ สำหรับแอปฯ ที่มีนวัตกรรมสูงสามารถผนวกตัวเองเข้ากับแอปฯ ด้านการตลาดและ Social Media ได้ ร้านค้าจะสามารถดูผลลัพธ์ความสำเร็จของแคมเปญออนไลน์ที่ทำบน Social Media แพลตฟอร์มต่างๆ ได้ละเอียดถึงระดับตัวเลขกำไรสุทธิที่ร้านขายได้ตามจริงจากโต๊ะที่ลูกค้าจองออนไลน์เข้ามาผ่านทาง Social Media

นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์เบ็ดเตล็ดสำหรับพูดคุยกับลูกค้า ส่งข่าวสารหลายช่องทางพร้อมกัน หรือตั้งระบบอัตโนมัติเพื่อส่งโปรโมชั่นเป็นรายบุคคล

4. ช่วยให้ร้านค้าบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อมีออเดอร์มารอ ร้านอาหารจะได้มีเวลาเตรียมตัวสำหรับวันพรุ่งนี้ ทำให้ประมาณวัตถุดิบที่ต้องใช้ได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายจากการมีวัตถุดิบเหลือใช้ สำหรับวันที่มีออเดอร์น้อยก็อาจจะลดปริมาณพนักงานที่ร้าน ปรับเปลี่ยนกะการทำงาน หรือจ้างพนักงานเพิ่มในช่วงที่ร้านอาหารกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น

5. Contactless Payment ความสะดวกอีกระดับของประสบการณ์การรับประทานอาหารนั่นคือการไม่ต้องยกมือเรียกพนักงานให้มาคิดเงินเมื่อจบมื้อ เพราะร้านอาหารสามารถส่งบิลเก็บค่าอาหารสำหรับแต่ละโต๊ะไปยังสมาร์ทโฟนของลูกค้า ให้ลูกค้าชำระเงินผ่าน E-Payment ได้ทุกเมื่อ รับประทานอาหารเสร็จแล้วก็ลุกไปได้ทำที พนักงานร้านทำหน้าที่เสิร์ฟอาหารเพียงอย่างเดียว ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องพนักงานทุจริตการเงิน

ตัวอย่างแอปฯ จองร้านอาหารยอดนิยมในต่างประเทศและประเทศไทย

OpenTable
OpenTable ครองตลาดแอปฯ จองโต๊ะอาหารในต่างประเทศ เริ่มให้บริการมาเป็นเวลากว่า 20 ปี เริ่มจากรูปแบบเว็บไซต์มาสู่แอปพลิเคชั่น ทุกวันนี้เป็นบริษัทมูลค่า 3 พันล้านบาท อยู่ในเครือของ Booking.com ไปแล้ว ในปี 2017 OpenTable มีร้านค้าลงทะเบียนด้วยกว่า 43,000 ร้านทั่วโลก ให้บริการจองโต๊ะอาหารมากกว่า 23 ล้านที่นั่งต่อเดือน เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้านักกินเพราะแอปฯ มีระบบสะสมแต้มและโปรโมชั่น ในช่วง COVID-19 ระบบฐานข้อมูลลูกค้านี้ได้ถูกปรับให้กลายเป็นที่บันทึกประวัติการฉีดวัคซีน ซึ่งลูกค้าสามารถจองคิวฉีดวัคซีน ตรวจสอบข้อมูลการฉีดและนัดหมายครั้งต่อไปได้เหมือน “หมอพร้อม” ที่หลายคนคงคุ้นเคย
(ดูข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.opentable.co.th/)

Tock
แอปฯ ยอดนิยมของร้านอาหารระดับ High End เพราะมี Community ของนักกินที่เข้มแข็ง ทำให้การจัด Event หรือเล่นแคมเปญออนไลน์บน Tock ให้ผลตอบรับที่ดี ปัจจุบันมีร้านค้าใช้บริการ Tock กว่า 3,000 ร้าน ใน 28 ประเทศทั่วโลก ในช่วง COVID-19 Tock ได้ออกฟีเจอร์ Tock-To-Go มาเพื่อให้ร้านอาหารที่ปกติให้บริการรับประทานอาหารที่ร้านเท่านั้น สามารถหันมาทำ Delivery และ Takeaway ได้ผ่านแอปฯ นอกจากนี้ยังมีการเล่นแคมเปญ Content Marketing กัน เช่น ร้านอาหารจัดเซ็ตเมนูที่ลูกค้านำไปประกอบเองที่บ้าน และประกวดภาพมื้ออาหารที่ตัวเองจัด ผ่าน Hashtag ใน Social Media สร้างสรรค์ประสบการณ์การกินในอีกรูปแบบหนึ่ง
(ดูข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.exploretock.com/)

QueQ
แอปฯ จองคิวร้านอาหาร ที่ร้านซึ่งต่อคิวยาวๆ ไม่ว่าร้านแฟรนไชส์หรือร้านบูติกก็นิยมใช้บริการ ทั้งนี้ก็ไม่ได้จำกัดแค่การจองคิวร้านอาหารเพียงอย่างเดียว สามารถจองคิวร้านสปา ร้านเสริมสวย ธนาคาร อุทยานสถานที่ท่องเที่ยว ไปจนถึงโรงพยาบาลและคลินิกด้วย ในช่วง COVID-19 นี้แอปฯ QueQ ก็ให้บริการจองฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนทดแทนการจองคิวด้านอื่นๆ ที่ลดลง
(ดูข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.queq.me/)

Eatigo
แอปฯ นานาชาติซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยและหนึ่งในผู้ก่อตั้งก็เป็นชาวไทยด้วย! ความดีงามของ Eatigo คือการให้ส่วนลดกับลูกค้านักกิน! ธุรกิจร้านอาหารจะมีช่วง Downtime ระหว่างวันที่ลูกค้าเข้าร้านน้อยเพราะไม่ใช่เวลาสำหรับมื้ออาหาร ร้านอาหารที่ไม่ต้องการปิดพักร้านในช่วง Downtime สามารถลงทะเบียนกับ Eatigo เพื่อมอบส่วนลดส่งเสริมการขายดึงดูดลูกค้าให้จองคิวใช้บริการร้านอาหารในช่วง Downtime นั้นได้ ช่วยลดค่าเสียโอกาสให้กับร้านค้า ในช่วง COVID-19 ร้านอาหารบางร้านก็มีให้โปรโมชั่นสำหรับเดลิเวอรี่ผ่าน Eatigo เช่นกัน
(ดูข้อมูลเพิ่มเติม : https://eatigo.com/)

การปรับตัวของแอปฯ ในยุคที่มีโรคระบาด

– การเพิ่มฟังก์ชั่นเกี่ยวกับ Delivery และ Takeaway เป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานสำหรับแอปฯ เหล่านี้ โดยปรับฟีเจอร์จากการจองโต๊ะรับประทานอาหารเป็นการสั่งอาหารแทน เปลี่ยนฟีเจอร์จาก “ถึงคิวแล้ว” เป็น “อาหารพร้อมแล้ว” เพื่อให้ลูกค้าทราบว่าสามารถไปรับอาหารที่ร้านได้แล้วหรือ Rider ได้เดินทางออกจากร้านแล้ว

– แอปฯ เหล่านี้มีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ดีเหมาะแก่การสร้างสังคมออนไลน์เพื่อคนรักการดื่มกินโดยเฉพาะ เมื่อคนเดินทางน้อยลง ย่อมมีจำนวนลูกค้า Walk-in ลดลงเป็นธรรมดา การมีสังคมออนไลน์ช่วยให้ร้านอาหารถูกค้นพบได้ง่ายขึ้นผ่านการเข้าร่วมแคมเปญของแพลตฟอร์มและการทำโฆษณา Online กับแพลตฟอร์ม

การแสดงมาตรการรักษาความสะอาดของร้านค้าภายในแอปฯ เพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าในการเลือกใช้บริการ อาทิ การวัดไข้และตรวจเชื้อพนักงานก่อนเริ่มงานในทุกวัน มีตารางทำความสะอาดทุกชั่วโมง ไปจนถึงการตรวจสอบประวัติการเดินทางของพนักงานโดยละเอียด

การรับประทานอาหารที่ร้านจะไม่มีหน้าตาเหมือนเดิมแน่ๆ ในช่วง 1-5 ปีนี้ร้านอาหารมีจำนวนโต๊ะน้อยลง เพราะต้องมี Social Distancing จำนวนโต๊ะที่ให้บริการได้ย่อมมีจำนวนน้อยลงในแต่ละวันและน่าจะต้องมีการจองคิวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ความเห็นของประชาชนก็ยังแบ่งออกเป็น 3 กระแสเหมือนกรณีที่นักท่องเที่ยวรอดูท่าทีเกี่ยวกับโรคระบาดนี้ ได้แก่

1. ลูกค้าที่รอจะกลับมารับประทานอาหารที่ร้านและจะรีบไปที่ร้านทันทีที่นโยบายภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลง
2. ลูกค้าที่จะไปรับประทานที่ร้านเมื่อนโยบายภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ดูคลี่คลายในระยะเวลาหนึ่ง
3. ลูกค้าที่จะไม่กลับไปรับประทานอาหารที่ร้านอีกแล้วในอนาคตอันใกล้

ร้านอาหารก็คงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้ทั้ง 3 รูปแบบ แอปฯ จองโต๊ะร้านอาหาร น่าจะกลายเป็นช่องทางที่จริงจังเรื่องประสบการณ์การรับประทานอาหารมากขึ้น ลดการแข่งขันกับแอปฯ Delivery อาหารทั่วไป โฟกัสกับเหล่ามนุษย์ผู้อยู่เพื่อกินที่กำลังมองหาร้านอาหารและประสบการณ์การรับประทานอาหารใหม่ ๆ มากขึ้นร้านอาหารจึงควรจับดูวงการแอปฯ เหล่านี้ไว้ เพื่อประโยชน์ในการรับจองโต๊ะอาหาร โฆษณา และทำการตลาดครับ

Contributor

Karn Triamsiriworakul

Learned about reasoning from the school of law but landed job in marketing field to work toward his interest in art and psychology.

Contributor

Share this post with your friends

More Articles

blog
Karn Triamsiriworakul

เทรนด์กัญชง-กัญชามาแล้ว เอาไปทำธุรกิจอะไรกันบ้าง?

กัญชง-กัญชามีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีมาเป็นเวลากว่า 50 ปี โดยเฉพาะกัญชาที่ถูกขนานนามว่าเป็น “พืชเสพติด” ก่อความมึนเมาและให้ผลเสียต่อร่างกาย แต่ในช่วง 1-2 ปีมานี้ จู่ๆ

Read More »
blog
Katina Rinsawasdi

Native Advertising คืออะไร ทำไมเราต้องรู้จัก?

ในยุคที่เทคโนโลยีเติบโตแบบก้าวกระโดด และข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่จะการเสพในสิ่งที่ตัวเองสนใจมากขึ้นในหลากหลายช่องทาง จึงส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำโฆษณาแบบเดิมๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะโฆษณาแบบบังคับไม่ว่าจะเป็น Banner หรือ

Read More »
blog
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudthaya

UNBOX Your Creativity: วิธีจุดไฟ เมื่อไอเดียสร้างสรรค์หมด

หลายครั้งที่ชาว UNBOX อาจมีอาการไอเดียตื้อตัน คิดงานไม่ออก ยิ่งคิดว่าคิดไม่ออกก็ยิ่งคิดไม่ออก เลยตัดสินใจไปนอนดีกว่า … ถูกต้องแล้วค่ะ😊 ไอเดียตื้อตัน คิดงานไม่ออกนั้นเป็นเรื่องปกติของคนที่ต้องทำงานในสายสื่อสารการตลาดที่ต้องการไอเดียสดใหม่ตลอดเวลาในเวลากันจำกัด

Read More »
Comodo SSL