บทความนี้มีส่วนเปิดเผยเรื่องราวบางส่วนของซีรีส์ ผู้อ่านควรรับชมอย่างน้อย 6 Episode ก่อนอ่านบทความ
ซีรีส์เกาหลีที่ฮ็อตที่สุดในนาทีนี้ ต้องยกให้ Start-Up ว่าด้วยเรื่องราวเส้นทางการเติบโตของเหล่า Startup ใน Sandbox ประเทศเกาหลี (สถานที่บ่มเพาะเหล่า Startup คล้ายๆกับ Silicon Valley ประเทศสหรัฐอเมริกา) เนื้อเรื่องสนุกสนานเข้มข้นด้วยเส้นเรื่องหลักเกี่ยวกับการฝ่าฟันของ Startup แต่ละคนในช่วงเข้าสู่วงการ กลมกล่อมด้วยเส้นเรื่องความสัมพันธ์ของหนุ่มสาว และความรักของครอบครัวที่อบอุ่น
วันนี้ UNBOX BKK จึงไปชวน “คุณศุภฤกษ์ รักชาติ (ฤกษ์)” เพื่อนคนหนึ่งที่เคยผ่าน Hackathon (การแข่งขันพัฒนาโจทย์ทางธุรกิจแบบที่ตัวละครหลักได้เข้าร่วม) มาแล้วหลาย 10 ครั้ง เพื่อนั่งพูดคุยกันว่าสิ่งที่เห็นในซีรีส์นั้นเป็นจริงมากน้อยแค่ไหนในมุมมองของผู้แข่งขัน โดยถ้าใครที่เคยดูเรื่อง Start-Up แต่อาจจะยังไม่ปะติดปะต่อมาก แนะนำว่าให้ข้ามไปอ่านเรื่องย่อตอนท้ายก่อนได้ เพื่อให้ตามติดเนื้อหาในซีรีส์ได้มากขึ้นค่ะ
(คุณศุภฤกษ์ รักชาติ คนกลางของภาพ)
ตัวอย่างงาน Hackathon ที่เคยผ่าน: DIA by DGA, SCB10x Hackathon, Education Disruption, Hackatravel และ Inskru Hackathon
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO and Co-Founder บริษัท ไออาร์เอ อินโนเวชัน
Q: คำถามแรกขอผ่อนคลายๆ บทบาทของฤกษ์เองเปรียบเทียบกับใครใน Start-up
“จริงๆทำได้หมดเป็นเป็ด ได้ทั้ง Design, Developer แล้วก็ Business แต่ถ้าเอาถนัดจริงๆที่สุดก็คงเป็น Design ดังนั้นแล้วผมเปรียบเทียบได้กับคุณทนายครับ 555” (แต่คอนเฟิร์มว่าคุณฤกษ์นี่ไม่ได้เล่นตัวเก่งเหมือนคุณทนายจองซาฮานะคะ // ผู้เขียนกล่าว)
Q: ในเรื่องมี Sandbox เป็น Accelerating Center ส่วนในประเทศไทยเรามีมากน้อยแค่ไหน
“มีหลายที่ครับ ที่คล้าย Sandbox มากที่สุดน่าจะเป็น DTAC Accelerate แต่ในปัจจุบันไม่มีในนามชื่อองค์กรนี้แล้ว (แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กร ที่ต้องรอติดตามกันต่อไป) นอกจากนั้นก็จะมี True Incubation และ AIS the Start up ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีรายละเอียดต่างกันไป เช่นบางที่ให้เงินสนับสนุน บางที่ให้คำแนะนำ หาที่ปรึกษาให้ ต้องศึกษาดูแต่ละองค์กรว่าใครทำอะไรบ้าง
นอกจากนั้นก็จะมีหน่วยงานของภาครัฐที่ทำหน้าที่สนับสนุน เช่น NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) และ DEPA (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) และกองทุนบางที่เช่น TED Fund ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะเข้ามาลงทุน (หรือให้ทุน) เพื่อช่วยเหลือ Start-up ในช่วงแรกให้สามารถไปต่อได้ครับ”
(รูปจาก Netflix)
Q: ในเรื่องนี่ซอดัลมีกับนัมโดซานมาฟอร์มทีมกันหน้างาน ชีวิตจริงมีมากน้อยแค่ไหน
“มีงานไม่มากที่เปิดให้มาฟอร์มที่หน้างาน นับเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของงานทั้งหมดที่จัดในไทย การฟอร์มทีมเป็นไปได้จริง แต่ส่วนใหญ่ทีมที่มาฟอร์มกันหน้างานมักจะสร้างผลงานสู้กับทีมที่มาเป็นทีมอยู่แล้วไม่ได้ เหตุผลก็คือด้านความพร้อมในการเตรียมตัว ซึ่งมันจะเกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่าโจทย์สตาร์ทอัพ มารู้หน้างานเลยจริงไหม”
Q: โจทย์บอกสดๆแบบในซีรีส์เลยหรือเปล่า
“บางงานก็บอกล่วงหน้า แต่เขาจะมีทรัพยากรบางอย่างที่เปิดให้เข้าถึงได้เมื่อเริ่มแข่ง บางงานก็รู้ตั้งแต่แรกว่าอยากให้ทำอะไร ทำไปก่อนล่วงหน้าได้ หลายคนที่มาแข่งก็เอางานที่เคยทำอยู่แล้วมาเสนอต่อ คือต้องเข้าใจว่างาน Hackathon หลายๆ งาน องค์กรเจ้าของงานกับคนจัดเป็นคนละคนกัน คนจัดเขาก็อยากประสบความสำเร็จในฐานะผู้จัดงาน อยากให้มียอดผู้เข้าแข่งขันเพียงพอ ผู้เข้าแข่งขันเกือบทุกทีมสามารถผลิตผลงานได้ทันเวลา และมีผลงานที่น่าสนใจนำเสนอในวันสุดท้าย ดังนั้นส่วนใหญ่โจทย์ก็จะรู้ก่อนวันงานครับ”
Q: คนส่วนมากเป็น Developer จริงไหม แล้วถ้าคนที่ไม่มีพื้นฐานด้านนี้เลยจะเข้ามาใน Hackathon ด้วยตำแหน่งอะไร
“ในการจะผลิตผลงานสักอย่างได้ใน Hackathon จำเป็นจะต้องมี Role สำคัญๆ 3 Role คือ Business, Designer และ Developer อย่างในหนังส่วนคนที่ดูด้าน Business คือนางเอก มี Samsan Tech เป็น Developer และคุณทนายจองซาฮาเป็น Designer ซึ่งแต่ละตำแหน่งก็สำคัญด้วยกันหมดครับ ในหนังค่อนข้างจะสอดคล้องกับความจริง คือตำแหน่ง Developer จะค่อนข้างเนื้อหอมและหายากที่สุด มีคนแย่งกันมาก ดังนั้นถ้าพูดตรงๆ คือในสายงาน Startup คนส่วนมากจะเป็น Business Person มากกว่า Developer ครับ”
Q: ตัวละครที่ไม่เคยมีพื้นฐาน หรือมีพื้นฐานน้อยมาก่อนอย่างซอดัลมีมีมากน้อยแค่ไหน เข้ามาเป็นส่วนไหนของทีม
“งาน Startup ถ้าจะแบ่งประเภทสามารถเห็นได้ 2 แบบในประเทศไทย คือ Dev Hack และ Biz Hack ที่เราเห็นในหนังคือ Dev Hack ที่มีไม่มากเท่าไรนัก งานประเภทนี้จะต้องผลิตตัว Prototype เป็นผลงานจริงๆ ใช้งานเบื้องต้นได้จริงๆ แต่งานอีกประเภทคือ Biz Hack ที่เราไม่ต้องผลิตผลงาน Prototype นำเสนอแต่ไอเดีย และ Pitch ซึ่งคนส่วนมากที่มาร่วม Hackathon จะสามารถทำงานในส่วนนี้ได้ แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน หลายๆ งาน Hack ก็จะมีการสอนในงานด้วยครับ”
Q: ดูเหมือน Startup จะเป็นเรื่องราวของคนหนุ่มสาว วัย 30+ อย่างเราๆเข้า Hackathon ไปจะเขินๆไหม
“จริงๆแล้วอายุค่อนข้างหลากหลายมาก แต่ส่วนมากจริงๆจะเป็น 20 ปลายๆถึง 30 ต้นๆ น่าจะเป็นวัยที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ประมาณนึงแล้ว และกำลังมีไฟอยู่ แต่มากกว่านี้ก็มีนะ ดังนั้นมันไม่ได้จำกัดแค่วัยเด็กรุ่นๆหนุ่มสาวมากๆขนาดนั้น” (อย่างนัมโดซาน กับแบดัลมีนี่ก็ดูเรียนจบและทำงานมาได้ระดับนึงแล้ว ก็น่าจะเป็นช่วง 20 กลางๆไปจนปลายๆ นะคะ)
(รูปจาก Netflix)
Q: มีประเด็นในในซีรีส์ที่เห็นไม่ตรงกับความจริงในไทยอีกไหม
“เรื่องการแบ่งหุ้นส่วนที่เห็นในหนัง อันนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับหลาย ๆ Startup ที่ทำกันในไทยเท่าไร หลายที่ก็ใช้วิธีการหารเท่า ไม่ได้ให้คีย์แมนถือหุ้นไว้คนเดียวอย่างที่หัวหน้าฮันแนะนำให้ทำ แต่มีเคสหนึ่งที่อยากจะยกมาเล่า คือมีหุ้นส่วนสามคน ถือหุ้นคนละ 33 % คนที่เป็นตัวหลักเป็น CEO บริษัทด้วย แล้วต่อมาเพี่อนสองคนรวมหัวกันขายหุ้นให้บริษัทอื่นมา Take Over บริษัทที่มาถือหุ้น 66% ก็จัดการเปลี่ยน CEO เรียบร้อย” (แปลว่าจริงๆคำแนะนำของหัวหน้าฮันเป็นเรื่องที่ดี แต่ด้วยความสัมพันธ์และการจัดการ บางทีก็ยากที่จะทำได้จริง เหมือนสุดท้ายที่ซอดัลมีจัดหุ้นส่วนขัดใจหัวหน้าฮันนิดหน่อยและค่ะ)
(รูปจาก Netflix)
เนื่องด้วยซีรีส์ยังดำเนินไปได้ไม่ถึงครึ่ง เราจึงสัมภาษณ์คุณฤกษ์แต่พอหอมปากหอมคอ อีกสักพักเมื่อเรื่องดำเนินไปได้ถึง Episode หลังๆ UNBOX BKK จะกลับมาใหม่พร้อมสาระที่อัพเดตมากขึ้นไปตามเนื้อเรื่องนะคะ ระหว่างนี้ชาว UNBOX BKK ก็อย่าลืมเป็นกำลังใจให้ซอดัลมีและนัมโดซานก่อตั้งธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ ส่วนสาวๆคนไหนเป็นทีมหัวหน้าฮัน พระรองคนดีของเรา ผู้เป็น Venture Capital หรือผู้ให้การสนับสนุนเงินทุนบริษัท Startup ตามแบบในเรื่อง ไว้ถ้ามีโอกาสเราก็จะมาเล่าเรื่องของหัวหน้าฮันเช่นเดียวกันค่ะ
เรื่องย่อสำหรับผู้ที่ดูไม่ครบ:
เรื่องราวใน Ep.1 เปิดตัวมาด้วยชีวิตวัยเยาว์ของสองพี่น้องซอดัลมี (แบซูจี) และซออินแจ (คังฮันนา) โดยหลังจากพ่อแม่ของทั้ง 2 คนเลิกกัน ซอดัลมีน้องสาวคนเล็กได้ใช้ชีวิตอยู่กับพ่อผู้ไขว่คว้าการสร้างธุรกิจ แต่กลับต้องหยุดกลางคันด้วยการประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ส่วนพี่สาวคนโตย้ายไปอยู่กับแม่ที่แต่งงานใหม่กับเศรษฐี และเปลี่ยนสกุลเป็นวอนอินแจ
ในวัยเด็ก ซอดัลมีมีเพื่อนทางจดหมายที่คุณย่าได้มอบหมายให้ฮันจีพยอง (คิมซอนโฮ) เด็กคนหนึ่งที่ช่วยอุปการะให้ที่อยู่อาศัย ปลอมตัวเป็นเพื่อนทางจดหมายในนามนัมโดซานเพื่อคลายความเหงา เมื่อเวลาผ่านไปฮันจีพยองย้ายออกจากบ้านคุณย่า ความสัมพันธ์ทางจดหมายจึงสิ้นสุดลง แต่ปรากฏว่าซอดัลมีนั้นกลับยังคิดถึงนัมโดซานในฐานะรักแรก และเรื่องราวก็วุ่นวายมากขึ้นเมื่อสองพี่น้องซอดัลมีและวอนอินแจเติบโตขึ้น พี่สาวนั้นดูจะไปได้ดิบได้ดีกับการเป็นนักธุรกิจ ทำให้ซอดัลมีรู้สึกฮึดอยากพิสูจน์ตนเองกับพี่สาว ว่าการที่ตนเองเลือกอยู่กับพ่อในวัยเด็กนั้น ถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดน
ซอดัลมีจึงเกิดความคิดอยากสร้างธุรกิจ Startup ขึ้นมาบ้าง โดยได้โกหกพี่สาวตนเองว่าผู้ร่วมทีมหนุ่มไฟแรงของเธอก็คือนัมโดซาน (ที่ในความเป็นจริงเธอไม่ได้ติดต่อเขามาเป็น 10 ปีแล้ว) เดือดร้อนถึงคุณย่าและฮันจีพยองผู้เขียนจดหมายที่ต้องแก้สถานการณ์การตามหานัมโดซานตัวจริง(นัมจูฮยอก) ซึ่งก็พบว่านัมโดซานได้เติบโตขึ้นมาเป็นหนุ่มเนิร์ดเจ้าของบริษัทเล็กๆที่มีพนักงานเพียง 3 คนภายใต้ชื่อ Samsan Tech โชคชะตาเล่นตลกเมื่อนัมโดซานเกิดประทับใจซอดัลมีที่ได้รู้จักจากจดหมายที่จีพยองให้อ่าน และยินดีสวมบทเป็นคนที่เคยเขียนจดหมายให้เธอจริงๆ โดยวางมาดเป็น CEO มือทองผู้ร่ำรวย ด้วยความช่วยเหลือของจีพยอง ที่ไม่อยากให้ความแตก และทำให้ซอดัลมีต้องผิดหวัง
เรื่องราววุ่นวายยิ่งขึ้นเมื่อซอดัลมี และนัมโดซานพร้อมเพื่อน เกิดอยากเข้าเป็น Sandbox รุ่นที่ 12 พร้อมกัน และดันผ่านเข้ารอบเสียด้วย ซอดัลมีจึงได้รู้ว่านัมโดซานไม่ใช่ CEO มือทองที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่ก็เป็น Developer ฐานะธรรมดาคนหนึ่ง ซอดัลมีไม่ได้รู้สึกโกรธ แต่กลับยินดีที่โชคชะตาส่งนัมโดซานมาให้เป็นเพื่อนร่วมทีมของเธอ
เรื่องราวในช่วง Ep.5-6 ว่าด้วยเรื่องการแข่งกัน Hackathon หรือการแข่งขันกันในระหว่างทีม Start Up เพื่อ Pitch ไอเดียที่ดีที่สุด เป็นจริงได้มากที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหลังของบทความนี้ค่ะ
Contributor
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudhya
Full-time lecturer at a school of communication arts and freelance event planner. Living with a strong passion for experiential and event marketing. Her happiness is all about making event audiences smile and playing with her cats.