เป็นเวลาร่วมเกือบ 1 เดือนถ้วนแล้ว ที่มหาวิทยาลัยในไทยประกาศงดการเรียนการสอนในรูปแบบชั้นเรียน และปรับรูปแบบมาเป็น E-Learning ผ่าน Platform หลากหลายรูปแบบเช่น Zoom, MS Team หรือ Google Hangouts แต่นอกไปจากชีวิตการเรียนรู้กับครูบาอาจารย์แล้ว ผู้เขียนในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็กๆนักศึกษา (และเด็กๆก็อนุญาตให้เป็น Friend บน Social Media เสียด้วยสิ) ก็ได้เห็นพฤติกรรมยามว่างอันสนุกสนานและสร้างสรรค์ของเหล่านักศึกษาเหล่านี้ วันนี้ผู้เขียนในนามของ UNBOX BKK จึงได้สังเกต พูดคุย และเก็บรวบรวมกิจกรรมมาแรงของเหล่าวัยนักศึกษาในช่วง Study from Home เผื่อเป็นไอเดียดีๆให้นักการตลาดได้ลองหาช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มนักศึกษาค่ะ
1. ปลดปล่อยพลังความสร้างสรรค์ของนักเต้น นักโคฟ นักแสดง ที่ “Tiktok”
พูดถึง Platform ที่มาแรงที่สุดในช่วงนี้คงหนีไม่พ้น Tiktok ดังคำแซวที่ว่าเพื่อนใน timeline เรามีอยู่ 2 ประเภทคือไม่เป็นเชฟก็เป็นนักเต้น แต่จริงๆแล้ว Tiktok นั้นเข้ามาในประเทศไทยและเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นมาเป็นเวลาปีกว่าแล้วโดยเฉพาะในหมู่ Gen Z และ Gen Y โดยในช่วงก่อนเกิด COVID-19 นั้นตัว Tiktok เองก็เรียกได้ว่ามาแรงอยู่แล้วด้วยลักษณะของความง่ายในการสร้างสรรค์ Creative Content บวกกับลักษณะนิสัยของคนไทยที่มีทักษะและพรสวรรค์ด้านอารมณ์ขัน ประกอบกับในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่นักแสดงเริ่มก้าวเข้าสู่ Tiktok มากขึ้นเรื่อยๆอย่าง แต้ว ณฐพร ดีเจนุ้ย แพตตี้ ตุ๊กกี้ และศิลปินอีกหลายคนที่มักสร้างคลิปฮือฮาได้เสมอ ทำให้ Tiktok เริ่มจับกระแสคนในวงกว้างได้มากขึ้น รวมถึงการทำให้เพลงฮ็อต ท่อนฮิตในอดีตอย่างนุ่น เจน โบว์ ของ Super Valentine กลับมาดังระเบิดในช่วงข้ามคืน Tiktok จึงเป็น Platform ที่ถือว่าน่าสนใจมากๆในช่วง COVID-19 นี้ และต้องจับตาดูกันต่อไปว่านักการตลาดแบรนด์ใดจะเข้ามามีส่วนร่วมกับ Platform มาแรงนี้ได้อย่างชาญฉลาดที่สุด
2. Live Music ช่วงเวลาทำคะแนนผู้ประกอบการสาย Party
อันนี้อาจจะเรียกว่าไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับวัยรุ่น แต่เป็นกิจกรรมยามว่างยอดฮิตของสายปาร์ตี้ หรือคนรักดนตรีอย่างการฟัง Live ที่เหล่าผู้จัดหรือร้านต่างๆออกมา Service เอาใจแฟนๆในยาม Social Distance แนวเพลงนั้นมีหลากหลายไปตามรสนิยมผู้ฟังอย่าง EDM กับเพจเทศกาลดนตรีดังระดับโลกอย่าง Tomorrowland (https://www.facebook.com/tomorrowland/) แนวผับเกาหลีสัญชาติไทยอย่างOVERSEOULBKK (https://www.facebook.com/overseoul/) หรือร้านที่เป็นเจ้าครองตลาดสาย Nightlife ที่มีแนวทางเฉพาะอยู่แล้วอย่าง
Brickbar (https://www.facebook.com/BrickBarKhaoSanRoad/)
MollyBar (https://www.facebook.com/mollybar /)
และ The Cassette (https://www.facebook.com/TheCassetteMusicBar/)
ดังนั้นใครที่เป็นเจ้าของกิจการสายบันเทิงช่วงนี้ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาทำคะแนนหากลุ่มลูกค้าใหม่ รวมถึงเป็นการ Service ลูกค้าเก่าให้หายคิดถึง ทำดีช่วงนี้มีโอกาสลูกค้าติดไปจนถึงเปิดจากช่วงหมด COVID-19 นะคะ
Live ทั้งที คนดูหลักแสน ต้องระดับโลกอย่าง Tomorrowland
3. ใครไม่ Live เรา Live กันเอง
ข้อนี้อาจจะขัดแย้งกับข้อข้างบนเสียหน่อยหากจะบอกว่าวัยรุ่นส่วนมากที่สัมภาษณ์อาจไม่ได้ใช้สื่อ Facebook เพื่อความบันเทิงมากเท่าใดนัก นั่นเป็นเพราะเด็กๆหลายคนอาจจะหลบผู้ปกครองหรือญาติผู้ใหญ่ จึงไม่ได้แสดงตัวตนในนั้นมากเท่าวัยที่โตมากขึ้น โดยมักหนีกันเข้าไปสนุกสนานอยู่ใน Instagram นั่นเอง การใช้ชีวิตบน Instagram ของเด็กๆนั้นไม่ใช่เพียงแค่การอัพรูปคุมโทนเหมือนอย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นพื้นที่ที่พวกเขาเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับ Live ของดาราศิลปิน หรือแม้แต่เพื่อนๆใกล้ตัวในระดับ Micro / Nano Influencer ที่มี Presentation Skill หรือรูปร่างหน้าตาที่น่าสนใจ ผู้เขียนเคยลองเข้าไปสังเกตการณ์ว่าวัยรุ่นเหล่านั้นพูดเนื้อหาสาระอะไร ก็พบว่าถ้าหน้าตาหรือลีลาการนำเสนอน่าสนใจแล้วนั้น แม้จะพูดเรื่องลมฟ้าอากาศ หรือทำอาหารง่ายๆ คนดูก็สามารถมีตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่นใน celeb รายดังๆทีเดียวค่ะ
4. ขายของออนไลน์ ไม่ใช่แค่ตลาดของบัณฑิต
หลายๆคนอาจจะเข้าใจว่า Marketplace ของสถาบันการศึกษาที่กำลังโด่งดัง เช่น Facebook Group จุฬาฯมาร์เกตเพลส หรือธรรมศาสตร์และการฝากร้าน จะมีแค่ศิษย์เก่าเจ้าของธุรกิจ โดยหารู้ไม่ว่าจริงๆแล้วเด็กๆสมัยนี้หลายคนก็มีกิจการเล็กๆเป็นของตนเอง เช่นร้านเสื้อผ้า ร้าน Gadget เล็กๆ หรือไม่ก็ช่วยเหลือที่บ้านทำมาค้าขายในการนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เข้าสู่โลกออนไลน์ หลายๆธุรกิจรุ่นคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า จะเริ่มมี Identity ในโลก Social Network ก็ด้วยฝีมือของเด็กๆในยุคนี้แหละค่ะ หลายๆร้านค้าออนไลน์ที่โด่งดังในโลกออนไลน์ตอนนี้ก็เป็นฝีมือของเด็กนักศึกษา เช่นกางเกงยี่ห้อดัง Copper.BKK ที่ปัจจุบันมียอดขายเข้าหลักล้าน ดังนั้นอย่าดูถูกสกิลพวกเขากันเชียวค่ะ
หลายๆกรุ๊ปที่เข้าไปก็ไม่ใช่มีแค่พี่ๆที่จบแล้วนะคะ หลายๆครั้งที่เห็นน้องๆนักศึกษารุ่นปัจจุบันเข้ามาขายของกันเพียบเลยค่ะ
5. เล่นเกมสังสรรค์ออนไลน์ ยามว่าง ที่ว่างมากขึ้น
เมื่อถามไปยังเด็กๆผู้ชายหลายคน คำตอบส่วนมากของการใช้เวลาว่างนั้นมักหนีไม่พ้นการเล่นเกมออนไลน์สุดฮิตอย่าง ROV หรือ PubG ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช้พฤติกรรมใหม่อะไรในช่วงนี้ แต่ก็เรียกว่าได้ใช้เวลาที่มีความสุขมากขึ้นกว่าช่วงเปิดภาคเรียนปกติ แต่ถ้าไม่ใช่คอเกมหนักๆแบบนี้นั้น เกมส์น่ารักๆที่ฮิตมาเป็นเวลานานอย่าง Crocodile, Werewolf หรือบอร์ดเกมออนไลน์ (ลิงค์เข้า https://www.facebook.com/638668092887973/posts/3127963193958438?sfns=mo) ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ดังนั้นช่วงเวลานี้ที่เด็กๆมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น แต่ภาระทางการศึกษานั้นไม่ได้น้อยลงนั้น อาจเป็นช่วงเวลาดีที่หลายแบรนด์เข้ามามีส่วนร่วมกับเกมสนุกๆ หรือพัฒนากลยุทธทางการตลาดที่มีความเป็น Gamification มากยิ่งขึ้น ก็น่าจะลองดูนะคะ
หลังจากสัมภาษณ์เด็กๆนักศึกษาหลายๆคน ผู้เขียนก็ค้นพบว่าจริงๆแล้วนั้น กิจกรรมของวัยรุ่นอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่บนโลกออนไลน์เสียซะ 100 เปอร์เซ็นต์เสมอไป ผู้ใหญ่อาจจะเข้าใจว่า วัยรุ่น = ดิจิทัล แต่เรายังคงได้ยินคำตอบของกิจกรรมครอบครัวน่ารักๆในโลกออฟไลน์อย่างปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย ทำอาหาร ทานข้าว ดูทีวีกับครอบครัว เหมือนกับช่วงวัยอื่นๆ เพียงแต่กิจกรรมเหล่านี้อาจเสริมสร้างด้วยความรู้จากโลกออนไลน์เช่นคลิปสอนทำอาหารง่ายๆ คลิปสอนเต้นที่ถูกใจวัยรุ่น รวมถึงเด็กๆหลายคนก็มีความคิดริเริ่มอยากเป็น Content Creator ของสิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำ ดังนั้นช่วงเวลาว่างนี้แท้จริงแล้วอาจจะเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และพลังใหม่ๆจากคนรุ่นใหม่ … รอจับตาดูกันต่อไปค่ะว่าหลังจากพ้นช่วง COVID-19 นี้ไป เราน่าจะเจอ Content Creator เก่งๆหน้าใหม่จากในช่วง Study Hard, Play Harder นี้เยอะเลยทีเดียว
Contributor
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudhya
Full-time lecturer at a school of communication arts and freelance event planner. Living with a strong passion for experiential and event marketing. Her happiness is all about making event audiences smile and playing with her cats.