อะไรคือเซิร์ฟ สเก็ต (Surf Skate)
Surf Skate เป็นสเก็ตบอร์ดประเภทหนึ่งซึ่งถูกสร้างขึ้นให้เป็นอุปกรณ์ฝึกซ้อมการทรงตัวบนบกสำหรับนักโต้คลื่น ในวันที่ทะเลไม่มีคลื่นลม องค์ประกอบของ Surf Skate จะต่างกับสเก็ตบอร์ดปกติเล็กน้อย เพราะส่วนของแกนล้อสามารถถ่ายน้ำหนักไปมาได้มาก ใช้แรงเหวี่ยงจากสะโพกและการถ่ายน้ำหนักเพื่อให้เกิดแรงไหลบอร์ดไปข้างหน้า จึงใช้เท้าไถพื้นน้อยกว่าสเก็ตบอร์ดปกติหรือแทบจะไม่ต้องใช้เลย แถมยังได้ความรู้สึกของการเล่น Surf Board เมื่อโยกตัวไปซ้ายขวาบนบอร์ดเพื่อเร่งความเร็วและเข้าโค้ง ท้าทายทักษะการทรงตัวของตัวเองเหมือนได้โต้คลื่นบนบกมากขึ้น
(ขอบคุณรูปจาก https://surfskate.com/)
ในประเทศตะวันตกถือว่าสเก็ตบอร์ดเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม Street มานานแล้ว เริ่มต้นจากที่เป็นกีฬาไปสู่แฟชั่น อย่างที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดแบรนด์รองเท้า Vans ซึ่งมีพื้นรองเท้าแบนให้ง่ายต่อการทรงตัวบนบอร์ด
สเก็ตบอร์ดเป็นกีฬาที่ค่อนข้างเล่นสะดวก ให้ความสนุกและได้ออกกำลังกาย เล่นได้หลากหลายที่ไม่ต้องมีคอร์ทหรือเน็ต เล่นคนเดียวก็ได้ไม่ต้องมีคู่ จึงมีภาพของดาราคนดั พาบอร์ดของพวกเขาไปด้วยตามที่ต่างๆ ทั้งเพื่อออกกำลังกายและฆ่าเวลา
(Justin Bieber และ Miley Cyrus นักร้อง นักแสดง กับสเก็ตบอร์ดคู่ใจ)
(Heath Ledger และ Joaquin Phoenix นักแสดงที่ต่างก็ได้รับบทบาทเป็น “Joker” ในภาพยนตร์ที่เข้าฉายห่างกันนับสิบปี)
Surf Skate ในประเทศไทย
ประเทศไทยมีกลุ่มคนรักกีฬาสเก็ตบอร์ดมานานแล้ว และคนไทยก็ค่อนข้างคุ้นกับภาพของกีฬาแบบ Extreme อยู่แล้วด้วย ไม่ว่าจะเป็น Windsurf, Wakeboard, Flyboard ติดก็แต่ว่ากีฬาเหล่านี้ต้องเดินทางไปเล่นตามสถานที่ที่จัดไว้และมีค่าใช้จ่ายรายครั้ง ทำให้หลายคนไม่เคยได้ไปลองด้วยตัวเองสักที
ซึ่งการมาของ Surf Skate ทำให้กีฬาแนวนี้เข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายขึ้น ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ดีสำหรับช่วง COVID-19 แทนการออกกำลังกาย ไม่ต้องปฏิสัมพันธ์กับใคร ถ้าไม่ติดความผาดโผนจะแค่จะท้าทายตัวเองด้วยการทรงตัวบนบอร์ด หัดเข้าโค้งคมๆ แค่มีถนนหมู่บ้าน มีซอยหน้าบ้านก็เล่นได้ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อย่างอื่น
(คุณ เคน ธีรเดชและครอบครัว ที่แสดงให้เห็นว่าการเล่น Surf Skate เป็นกีฬาที่ทุกคนเข้าถึงได้ไม่ว่าในรุ่นไหน)
โดยกระแส Surf Skate ในประเทศไทยเริ่มบูมมาจากกลุ่มคนดัง อาทิ คุณไอซ์-อภิษฎา และคุณเต้ย-จรินทร์พร ลงภาพของพวกเขากับบอร์ด Surf Skate ทาง Social Media ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ปีพ.ศ. 2563 ซึ่งเปลี่ยนภาพจำของสเก็ตบอร์ดที่เคยดูเป็นกีฬาแมนๆ ผู้ชายสตรีทเล่น ให้เป็นกีฬาที่ผู้หญิงก็เล่นได้ ดูเท่และมีเสน่ห์ไปอีกแบบ
(คุณไอซ์-อภิษฎา และคุณเต้ย-จรินทร์พร กับบอร์ดสเก็ต ช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของกีฬานี้)
ประกอบกับเป็นช่วงที่ Tik Tok แพลตฟอร์มวีดีโอสั้นกำลังมาแรง ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เหล่า Tik Toker ได้ออกมาโชว์ลวดลายการเล่นสเก็ตของพวกเขา ยิ่งกระตุ้นให้คนอยากหาบอร์ดมาลองเล่นบ้าง คนทั่วไปจึงหันมาสนใจกีฬาชนิดนี้มาขึ้น
(ผู้หญิงที่เล่น Surf Skate ก็ดูดีไม่แพ้ผู้ชาย)
ในช่วงสิ้นปี 2563 มาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่สถานการณ์ COVID-19 เริ่มดีขึ้น สังคมของคนเล่นสเก็ตเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากการที่ผู้คนไปพบกันได้มากขึ้นตามลานกว้าง ดาดฟ้า และลานจอดรถต่างๆ ที่กลายร่างเป็นลานสเก็ต
(ลานสเก็ตบนดาดฟ้าที่ Sky Park BKK อาคารฟอร์จูน ทาวน์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ)
สิ่งที่ตามมาจากกระแส Surf Skate
ผู้คนให้ความสนใจกับนักสเก็ตมืออาชีพและงานแข่งต่างๆ ในประเทศไทยมากขึ้น และทำให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องตามมาเช่นกัน ได้แก่ ร้านค้านำเข้าบอร์ด ร้านปรับแต่งบอร์ด เสื้อผ้าและอุปกรณ์ Safety โค้ชสอนการเล่นสเก็ต ไปจนถึงสวนสเก็ต (Skate Park) ที่มีทางลาดชันให้คนไปหัดเล่นหรือ Hang Out
(คุณพะแพง เป็นแชมป์ Surf Skate หญิง ในการแข่งขัน Rip Curl Surf Skate Festival 2021)
ผู้ที่สนใจกีฬาโต้คลื่นแต่ไม่อยากเดินทางไปทะเล ตอนนี้ก็เข้าถึง Surf Skate อันเป็นตัวแทนของ Surf Board ได้ไม่ยาก อาจเริ่มจากลองของเพื่อน ถ้าติดใจก็เลือกหาซื้อบอร์ดของตัวเอง เป็นไปได้ว่าเมื่อสถานการณ์ COVID-19 สิ้นสุดลงคนไทยจะตรงไปทะเลแล้วหาเซิร์ฟบอร์ดเล่นกันมากขึ้น
นอกจากนี้ บอร์ดเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงอุปกรณ์ออกกำลังอีกต่อไป บางมุมก็อาจจะมองว่าเป็นเครื่องประดับหรือสิ่งบ่งบอกหน้าตาทางสังคม ไม่ต่างกับกระเป๋าแบรนด์เนมต่างๆ บอร์ดเซิร์ฟสเก็ตมีหลายรูปแบบ หลายแบรนด์ หลากระดับคุณภาพ ใช้เทคโนโลยีต่างกัน และมีเรื่องราวของแบรนด์เป็นของตัวเอง สำหรับบางคนก็เป็นของสะสม มีบอร์ดแบบ Limited Edition ผลิตจำนวนจำกัดให้ตามเก็บ หรืออาจจะเป็นรุ่นพิเศษที่แบรนด์ไป Collaborate กับศิลปินในวงการอื่นๆ
(แบรนด์เนมยี่ห้อดังก็ไม่พลาดออกของสะสมมาให้กับแฟนๆ)
บอร์ดยังสามารถนำไปปรับแต่งได้ ใส่อุปกรณ์เพิ่ม เติมลวดลาย ใช้เป็นสิ่งแสดงอัตตาลักษณ์และรสนิยมส่วนบุคคลได้ด้วย
(คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักการเมือง ก็เป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์นี้เช่นกัน)
กระแสการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย และท้าทายความสามารถของตัวเองเป็นสิ่งที่ดี ทั้งนี้หลายครั้งที่ Social Media โหมกระแสใส่ผู้ใช้อย่างรุนแรงด้วยการส่งสารให้กับเราจากทุกช่องทางแล้วยังตลอดเวลาอีกด้วย อาจทำให้เกิดความรู้สึก Fear of Missing Out (FOMO) กลัวการตกกระแส ไม่เป็นที่ยอมรับ นำไปสู่การเสพติดกระแสทั้งในแง่ของ Online และ Offline โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการการยอมรับจากสังคม อาจจะทำให้เกิดภาวะวิตกกังวล ความเครียด การใช้จ่ายเกินตัวตามมา อย่างไรก็ต้องระวังในเรื่องนี้ด้วยนะครับ
Contributor
Karn Triamsiriworakul
Learned about reasoning from the school of law but landed job in marketing field to work toward his interest in art and psychology.