จำนวนประชากรไทยกำลังจะแตะ 70 ล้านคน แต่จนถึงตอนนี้ก็คงยังไม่ใช่ทุกคนที่จะซื้อของออนไลน์ ในขณะที่ลำพัง E-Commerce อย่าง Amazon เพียงแพลตฟอร์มเดียวก็มีลูกค้าถึง 300 ร้อยล้านคนจากทั่วโลก ทุกคนคงจะเห็นถึงโอกาสในการค้าขายที่มากกว่าหลายเท่าหากเราสามารถขายสินค้าไปยังต่างประเทศได้ ทั้งนี้โอกาสที่มากขึ้นก็มาพร้อมกับกฎระเบียบที่เราต้องรู้เพิ่มขึ้นด้วย วันนี้ทีม UNBOX อยากจะนำเรื่องการค้าขายสินค้าไปต่างประเทศมาให้ลองศึกษากันเล็กน้อยครับ
ตัวอย่างสินค้าไทยที่ชาวต่างชาตินิยม
(คุณหมี จาก YouTube: All About Thailand by Mii กำลังรีวิวสินค้าจากประเทศไทยที่นิยมในกลุ่มคนต่างชาติ)
ยาหม่อง ยาดม
สิ่งที่ชาวต่างชาติสงสัยว่าทำไมในเมืองนอกไม่มีขายกันบ้างทั้งที่ช่วยกอบกู้สถานการณ์ได้หลากหลาย ตอนจะเป็นลม คลื่นไส้ แก้ง่วง ใช้ง่าย ชิ้นเล็ก สารพัดประโยชน์ ไม่แปลกที่นักท่องเที่ยวมักจะเหมากลับบ้านไปเป็นกล่องๆ
ผลิตภัณฑ์สปา
Thai Massage หรือนวดไทยดังไกลไปทั่วโลก พลอยให้เครื่องหอมและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีไปด้วย
อาหารไทย ผลิตภัณฑ์จากผลไม้ของไทย
อาหารสำเร็จรูป ผัดไทย เครื่องเทศ เครื่องปรุง พริกแกง อาหารไทยมีชื่อเสียงในต่างประเทศอยู่แล้ว ความจัดจ้านและกลิ่นเครื่องเทศที่เย้ายวน ต่างก็เป็นสินค้าที่เราผลิตเองในประเทศได้มากด้วย
(King Power ส่งออกอาหารและขนมสำเร็จรูปมากมาย หนึ่งในสินค้ายอดนิยมคงหนีไม่พ้นมะพร้าว)
ขนมซอง ขนมกล่อง อาทิ ผลไม้อบแห้งก็เป็นที่นิยมมาก เพราะประเทศเขตร้อนอย่างเราเป็นสวรรค์ของผลไม้ สินค้าประเภทนี้พบได้เต็มเชลฟ์ร้านค้าของห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต มาในหลากหลายรูปแบบและรสชาติ
สินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ
งานฝีมือของไทยมีเอกลักษณ์และมีคุณภาพ ผ้าไหมไทยขึ้นชื่อเรื่องความประณีตและความละเอียดในการถักทอ เป็นของที่ระลึกที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อ ไม่ว่าเสื้อผ้า ปลอกหมอน ผ้าปูโต๊ะ เครื่องประดับเพื่อโชคลางก็เป็นที่นิยมมากในหมู่ชาวตะวันออกที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทย ทั้งแต่ละแบบยังมีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ ขนาดกำลังพอดี พกพาง่าย เหมาะสำหรับเป็นของขวัญของฝาก
(ตะกรุด สายมูเตลู และสารพัดเครื่องรางจากแบรนด์ Leila ซึ่งมีไอเดียในการนำเครื่องรางมาใช้ต่างเครื่องประดับ ช่วงก่อน COVID-19 หน้าร้านของพวกเขาเต็มไปด้วยลูกค้าชาวจีนและฮ่องกง ขอบคุณภาพจาก Instagram @leila_amulets)
(ผลิตภัณฑ์ OTOP ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวมองหา เพราะมักเป็นงานฝีมือจากคนในท้องถิ่นซึ่งมาพร้อมกับคุณภาพและเรื่องราวเฉพาะตัว)
เมื่อคิดว่าจะเริ่ม ต้องดูอะไรบ้าง?
ดูธุรกิจที่ตัวเองอยากทำ: จะขายเองหรือว่าทำผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce? หากขายของเป็นชิ้นๆ ของทำมือหรือสั่งทำ สามารถขายผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce ก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ระบบ Search ของแพลตฟอร์มจะช่วย Matching ผู้ที่มีความสนใจสินค้าแต่ละอย่างเข้ามาพบเราเอง ผู้ขายแค่ต้องไป Register ร้านและสินค้าของเราไว้บนแพลตฟอร์ม เช่น eBay Amazon Taobao Etsy สำหรับการค้าปลีก และ Alibaba สำหรับการค้าส่ง ทั้งนี้การเป็นนิติบุคคลก็มีข้อได้เปรียบอยู่บ้าง เพราะเราสามารถแสดงเอกสารธุรกิจประกอบเพื่อให้ร้านค้าของเราได้รับการรับรองโดยแพลตฟอร์มช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือได้ด้วย
(การจะลงทะเบียนเป็นผู้ขายก็ต้องดูข้อกำหนดของแต่ละแพลตฟอร์มด้วย อย่าง Alibaba มีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเป็นผู้ขาย และเราควรตรวจสอบวิธีรับเงินด้วย ไม่ให้มีปัญหาเวลาเราต้องการถอนเงินออกมาจากแพลตฟอร์ม)
หากจะขายเอง ก็ยิ่งแนะนำว่าควรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อให้ธุรกิจและสินค้าของเราสามารถขอการรับรองจากองค์การพาณิชย์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เอาไปใช้แสดงเวลาที่ลูกค้าขอดูเอกสารประกอบก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าจากเรา
นอกจากนี้การเป็นผู้ส่งออกในรูปแบบนิติบุคคลยังทำให้เราเข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยและประเทศได้เช่น สิทธิ์เขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) ที่ช่วยลดหรือผ่อนผันภาษีให้กับการค้าขายข้ามประเทศของเรา ช่วยลดต้นทุนการส่งออก เพิ่มผลกำไร มีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น
(ข้อมูลจากกรมศุลกากร แต่ละ FTA มีความแตกต่างกันตามที่ไทยได้ตกลงกับแต่ละประเทศหรือกลุ่มประเทศ ทั้งในเรื่องประเภทสินค้าที่อยู่ภายใต้ FTA และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ผู้ขายควรศึกษาก่อนว่าเรามีศักยภาพและมีสินค้าเหมาะที่จะค้าขายให้กับลูกค้าในประเทศใด)
อย่าลืมเรื่องการขนส่ง เพราะบางประเทศแม้จะมีความต้องการสินค้าของเรา แต่ค่าขนส่งไปยังประเทศนั้นอาจสูงมากจนกินกำไรของเราไปหมด สินค้าพวกอาหารอาจต้องขนส่งด้วยตู้ Container ปรับอากาศยิ่งทำให้ค่าขนส่งมีราคาแพง ควรตรวจสอบเรื่องวิธีและราคาในการจัดส่งไปยังลูกค้าไว้ด้วย
มีเอกลักษณ์และมีมาตรฐาน: ไม่ควรขายแข่งกับสินค้าที่ประเทศนั้นๆมีอยู่แล้วในท้องถิ่น เพราะโดยมากจะต้องแข่งทั้งเรื่องค่านิยมและราคา ซึ่งสินค้าของเรามักจะเสียเปรียบด้านราคาอยู่แล้วเพราะมีค่าขนส่ง เว้นแต่สินค้าของเราจะได้รับการไว้วางใจจากคนในท้องถิ่นมากกว่าสินค้าในประเทศของเขาเอง เพราะมีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีกว่าจนแม้จะตั้งราคาสูงกว่าก็ยังแข่งได้ อย่างก็มีที่เครื่องสำอางของไทยตีตลาดเครื่องสำอางในประเทศอื่นได้สำเร็จเพราะของเรามีคุณภาพและมีการรับรองจากองค์กรสากล
(หากลองคิดถึงสินค้าที่มีเอกลักษณ์ แมลงทอดบ้านเราก็อาจจะโดดขึ้นมา อาจจะจริงที่มีกำแพงวัฒนธรรมอยู่ทำให้มีความท้าทายเป็นพิเศษหากจะขายให้ชาวต่างชาติ แต่ก็คงมีชาวต่างชาติอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการจะลองสินค้าประเภทนี้ เพียงแต่เราต้องทำสินค้าของเราได้มาตรฐาน ขอบคุณภาพจาก www.facebook.com/lbdrbug)
เรื่องขอการรับรองจากองค์กรในท้องถิ่นให้กับสินค้าก็สำคัญ เพื่อแสดงว่าสินค้าของเราได้มาตรฐานที่คนในท้องถิ่นไว้วางใจ ช่วยให้สินค้าของเราได้รับการยอมรับง่ายขึ้นด้วย อาทิ คนไทยอาจจะมองหาสินค้าไทยที่มี อย. หรือ มอก. ชาวยุโรปมองหาสัญลักษณ์ CE เป็นต้น
ใช้ช่องทางออนไลน์ให้เหมาะสม: แต่ละประเทศมี Social Media และแพลตฟอร์ม E-Commerce ที่คนประเทศนั้นนิยมแตกต่างกัน เราจึงต้องศึกษาลูกค้าด้วย หากมีลูกค้าในประเทศเป้าหมายหน้าร้านค้าของเรานอกจากภาษาอังกฤษแล้วก็ควรมีคำอธิบายสินค้าเป็นภาษาของประเทศนั้นเพื่อให้ความสะดวกแก่ลูกค้าในการทำความเข้าใจและตัดสินใจซื้อสินค้าของเรา
(แพลตฟอร์มที่เราเลือกขายก็มีความสำคัญ เช่น ezbay เหมาะสำหรับการขายงานฝีมือ)
ในกรณีที่อยากได้ลูกค้าองค์กรจากตลาด B2B แนะนำให้ทำเว็บไซต์ เพราะลูกค้าองค์กรมัก Search หาเราจาก Google ในเว็บไซต์ของเราควรใส่ข้อมูลนิติบุคคล ที่มาที่ไป สร้างความน่าเชื่อถือให้กับนิติบุคคลและสินค้าของเรา พร้อมช่องทางติดต่อที่เข้าถึงง่ายจากทั่วโลกทั้งอีเมลและเบอร์โทรศัพท์ และเราควรทำเว็บไซต์ของเราให้มีภาษาสำหรับลูกค้าจากประเทศเป้าหมายเช่นเดียวกันกับร้านค้า E-Commerce ด้วย
(เว็บไซต์มีค่าใช้จ่ายในการดูแลก็จริง แต่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ มีประโยชน์มากในการค้าขายไปยังต่างประเทศเพราะคนทั่วโลกอาจไม่ใช้ Facebook แต่ Search Engine ของทุกประเทศมีโอกาสค้นพบเว็บไซต์ของเราได้ ขอบคุณภาพจาก Pipatchara)
ข้อสัญญาซื้อขายและวิธีการชำระเงิน: ในกรณีที่ทำการค้าขายต่างประเทศด้วยตัวเอง ควรมีข้อสัญญาที่ชัดเจนว่าลูกค้าต้องชำระเงินเมื่อใด เช่น ตอนที่สินค้าออกจากโรงงาน หรือตอนที่ลูกค้าได้รับของ หากเป็นตอนที่ลูกค้าได้รับของนั้น ณ ตอนใดจึงถือว่าลูกค้าได้รับของแล้ว ในเรื่องนี้ก็ควรปรึกษาด้านกฎหมายกับผู้เชี่ยวชาญไว้
รวมถึงเราจะใช้สกุลเงินอะไรในการซื้อขาย ควรระวังไม่ให้การผันผวนของค่าเงินทำให้เกิดการขาดทุน ปัจจุบันเราสามารถขายโดยเลือกรับเป็นเงินบาทได้โดยอาศัย Payment Gateway อาทิ Paypal, Alipay หรือธนาคาร ให้ลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเองตอนที่จะชำระเงิน วิธีนี้ไม่ว่าอย่างไรเราก็ได้รับเงินเต็มจำนวน อาจลองสอบถามธนาคารด้วยว่าบัญชีธนาคารของเรามีข้อจำกัดในการรับการชำระเงินจากต่างประเทศหรือไม่อย่างไร
(บางธนาคารมีบริการสำหรับผู้ส่งออกโดยเฉพาะ เพื่อช่วยให้สามารถเก็บเงินจากลูกค้าในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ)
การหาลูกค้า: โดยทั่วไปแล้วหน่วยงานราชการในประเทศไทย อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม จะมีหน่วยงานที่ช่วยเชื่อมเรากับลูกค้าต่างประเทศได้ เราอาจเข้าร่วมโครงการที่ราชการจัดไว้ หรือให้ชื่อของเราในฐานะผู้ส่งออกแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน่วยราชการติดต่อเราหรือช่วยโฆษณาสินค้าของเราเมื่อมีโอกาสมาถึง อย่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีการจัดงาน Matching ให้ลูกค้าจากต่างประเทศและผู้ขายในไทยได้มาเจอกันด้วย ส่วนในต่างประเทศ หลายประเทศมีองค์กรการค้าที่ตั้งขึ้นเพื่อค้าขายกับไทยโดยเฉพาะซึ่งก็เป็นช่องทางที่ดีในการขอข้อมูล
ผู้ขายสามารถหา Connection หรือหาความรู้ด้วยตัวเองผ่าน Social Media อาทิ Facebook Group และ Clubhouse ของผู้ส่งออกไทยก็ได้ นอกเหนือจากนี้ หากมองมุมกลับเราไม่จำเป็นต้องส่งออกเพื่อขายสินค้าให้กับชาวต่างชาติเสมอไป เพราะเราอาจจะเน้นขายสินค้าของเราให้กับคนไทยในต่างประเทศก็ได้ ซึ่งก็มี Online Community ชาวไทยในต่างแดนอยู่ในหลาย Social Media เช่นกัน ช่วยเป็นประตูไปถึงสังคมคนไทยในต่างประเทศได้ไม่ยาก
(ตัวอย่างกลุ่ม Clubhouse ประเภทต่าง ๆ)
การส่งออกในยุค COVID-19
อย่าลืมคำนึงถึงสภาพการใช้ชีวิตของผู้คนในช่วงนี้ หากขายอาหารก็ควรคำนึงถึงว่าลูกค้าอาจจะนำไปสต็อกเพราะเป็นช่วง Work From Home ต้องมีความสะอาด ปลอดภัย และมีอายุเก็บไว้รับประทานได้ บางประเทศมีความต้องการสินค้าทางการแพทย์สูง ตั้งแต่น้ำยาทำความสะอาด หน้ากากอนามัย ไปถึงเตียงพยาบาล ช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้กับเรา
ในขณะเดียวกันสถานการณ์ภายในภายนอกประเทศมีการเปลี่ยนแปลงได้อาจส่งผลให้รัฐบาลออกมาตรการไม่รับสินค้าจากต่างประเทศหรือประเทศกลุ่มเสี่ยงขึ้นมา ผู้ประกอบการควรหมั่นตรวจสอบข่าวสาร ประวัติการนำเข้าสินค้าของประเทศเป้าหมาย และเตรียมแพลนสำรองไว้ด้วย
โดยรวมแล้วเศรษฐกิจโลกยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวเนื่องจาก COVID-19 ทำให้ความต้องการทั่วโลกหดตัวลง แต่ต่อให้เราจะไม่เริ่มส่งออกแบรนด์ของเราในตอนนี้ หากเรามีแผนที่จะส่งออกก็ควรจะเตรียมแบรนด์ของเราไว้ให้พร้อมเกาะกระแสตอนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาด้วย หากต้องการสร้างแบรนด์จะในหรือนอกประเทศสามารถติดต่อทีม UNBOX ได้นะครับ