การรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของ Victoria’s Secret

(Victoria’s Secret ในยุคก่อนกับภาพลักษ์สาวเซ็กซี่รูปร่างสูงโปร่ง ขอบคุณภาพจาก Vogue Thailand)

จากนางฟ้าสุดเซ็กซี่สู่คุณค่าความงามแบบสากล
หลังจาก Victoria’s Secret แบรนด์ชุดชั้นในสุดเซ็กซี่ชื่อดัง ได้ประกาศยกเลิกการจัดแฟชั่นโชว์ของเหล่านางฟ้าตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา เนื่องด้วยการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงจุดยืนของทางแบรนด์จากกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการให้คุณค่าต่อเรือนร่างผู้หญิงในแบบที่สูงโปร่ง ผอมบาง เซ็กซี่อย่างเป็นรูปแบบมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด สู่การปฏิวัติ หรือปรับเปลี่ยนแบรนด์ที่เริ่มให้คุณค่ากับเรือนร่างสตรีที่มีความหลากหลาย และให้ความสำคัญกับผู้หญิงในมิติที่นอกเหนือไปจากจากด้านรูปร่างมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากการเปลี่ยนชุดผู้บริหาร ทีมงาน และเริ่มสะท้อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ออกมาในรูปแบบแคมเปญที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

(ภาพลักษณ์ใหม่ของ Victoria’s Secret)

โดยล่าสุดในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ ทาง Victoria’s Secret ได้ประกาศจัดตั้งทีม VS Collective อันประกอบไปด้วยผู้หญิงจากหลากหลายสาขาอาชีพจำนวน 7 คน ที่จะมาช่วยให้คำแนะนำให้แบรนด์ไปในทางที่สอดคล้องต่อมุมมองต่อสตรีในโลกสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น หรือในสำนักข่าวต่างชาติบางสื่อนั้นเรียกว่าพวกเธอนั้นเทียบเท่าภาพลักษณ์ หรือเป็น Ambassador ชุดใหม่ของแบรนด์เลยทีเดียว โดย VS Collective นั้นประกอบไปด้วย

1. Adut Akech: นางแบบ ผู้ลี้ภัย และผู้สนับสนุนสวัสดิภาพทางสุขภาพจิต
2. Amanda De Cadenet: ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ผู้สนับสนุนความเท่าเทียม และผู้ก่อตั้ง #Girlgaze โครงการเกี่ยวกับการสนับสนุนช่างภาพหญิง
3. Eileen Gu: นักสกีลูกครึ่งจีน-อเมริกัน นางแบบ และผู้สนับสนุนด้านผู้หญิงและกีฬา
4. Megan Rapinoe: นักเคลื่อนไหวด้าน LGBTQIA+ นักฟุตบอล และผู้ผลักดันรายได้ที่เท่าเทียมระหว่างเพศ
5. Paloma Elsesser: ผู้สนับสนุนด้านความเท่าเทียมทางรูปร่างสรีระ และนางแบบ
6. Priyanka Chopra Jonas: นักแสดง โปรดิวเซอร์ และผู้ประกอบการ
7. Valentina Sampaio: นักเคลื่อนไหวด้าน LGBTQIA+ นักแสดง และนางแบบ

(รายชื่อ VS Collective ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ Victoria’s Secret)

Martin Waters หนึ่งในผู้บริหารของ Victoria’s Secret ยุคปัจจุบันได้กล่าวยอมรับว่าที่ผ่านมานั้น Victoria’s Secret นั้นแต่ก่อนอาจไม่ได้ปรับตัวให้เท่าทันกับผู้หญิงในโลกสมัยใหม่มากนัก โดยเมื่อก่อนแบรนด์นั้นอาจมีการสื่อสารที่ตอบโจทย์ว่าผู้ชายต้องการอะไร แต่ตอนนี้ทางแบรนด์ปรับมุมมองกลับมามองโจทย์ว่าที่แท้จริงคือผู้หญิงต้องการอะไร โดยตอนนี้ทางทีมผู้บริหาร Victoria’s Secret ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นผู้หญิงแทบจะทั้งหมด รวมไปถึงการแต่งตั้งกลุ่ม VS Collective ในครั้งนี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของ Victoria’s Secret นั้นได้เริ่มสะท้อนขึ้นมาจากการทำแคมเปญวันแม่เป็นครั้งแรกของแบรนด์ ซึ่ง “ความเป็นแม่” นั้นมิได้มีภาพลักษณ์ที่เข้ากับความเซ็กซี่ของแบรนด์ในสมัยก่อนนัก พร้อมการเปิดตัวคอลเลคชั่นบราสำหรับสตรีให้นมบุตรต่อมา เพื่อเสริมภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่มีความรอบด้านมากกว่าเพียงแค่ความเซ็กซี่ในรูปแบบซ้ำเดิมเหมือนสมัยก่อน

(ภาพส่วนหนึ่งของแคมเปญวันแม่จาก Victoria’s Secret)

การเปลี่ยนแปลงหรือการ Rebrand ครั้งใหญ่ของ Victoria’s Secret ในช่วงที่ผ่านมานั้นได้รับกระแสการตอบรับเชิงบวกที่สูงมาก แต่ถึงแม้กระนั้นยังมีเสียงต่อต้านต่อภาพลักษณ์ของเหล่า VS Collective บางส่วน โดยเฉพาะต่อ Megan Rapinoe นักฟุตบอล LGBTQIA+ โดยเปรียบเทียบกับการอยากให้ Victoria’s Secret Angel กลับมาดังเดิม เหล่าคนดังในทวิตเตอร์บางส่วนนั้นยังได้ออกมา Tweet แซวถึงการเปลี่ยนแปลงของ Victoria’s Secret ว่าขยับเปลี่ยนแปลงที่ได้ช้ากว่าแบรนด์อื่น และจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนแท้จริงหรือไม่

และคำถามที่สำคัญนั่นคือ เมื่อแบรนด์ใหญ่อย่าง Victoria’s Secret นั้นขยับตัวค่อนข้างช้ากับประเด็นนี้ จะสามารถสร้างความแตกต่าง และน่าจดจำไปมากกว่าแบรนด์อื่นๆที่ปรับตัวก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ และจะสามารถสร้างอิทธิพลต่อความคิดด้านรูปแบบความงามของผู้หญิงในสังคมโลกเราได้มากน้อยเพียงใด ต้องรอติดตามชมกันในระยะยาวค่ะ

Contributor

Jinsiree Palakawongsa Na Ayudhya

Full-time lecturer at a school of communication arts and freelance event planner. Living with a strong passion for experiential and event marketing. Her happiness is all about making event audiences smile and playing with her cats.

Contributor

Share this post with your friends

More Articles

blog
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudthaya

Cognitive Dissonance กับความวุ่นวายใจในการซื้อของผู้บริโภค

เคยไหมที่เวลาซื้อของอะไรสักชิ้นที่ดูจะไม่จำเป็นเลย แต่กลับหาเหตุผลให้ตัวเองต้องซื้อให้ได้อย่างน่าประหลาดเคยไหมที่หลังซื้อสินค้าราคาแพงชิ้นหนึ่งไป แล้วกลับเจอรุ่นที่เหมือนจะดีกว่า และถูกกว่า ถึงแม้จะเสียดาย แต่ก็ได้แต่บอกตัวเองว่าที่ซื้อไปนั่นดีแล้ว พฤติกรรมทางจิตวิทยาเหล่านี้เรียกว่า Cognitive Dissonance แปลเป็นภาษาไทยได้อย่างตรงตัวว่า

Read More »
Comodo SSL