*บทความนี้ส่วนหนึ่งแปลจากบทความ Welcome to the YOLO Economy ของ Kevin Roose
เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา Kevin Roose ได้เผยแพร่บทความ Welcome to the YOLO Economy ในเว็บไซต์ New York Times ซึ่งถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงหลัง COVID-19 แบบหนึ่งที่น่าสนใจ ทาง UNBOX จึงขอหยิบยกนำมาเล่าให้ฟัง เผื่อใครที่จะรู้สึกว่าตนเองเป็นหนึ่งในชาว YOLO หรือหากไม่ใช่ พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ก็นับว่าน่าสนใจ และสามารถเป็นหนึ่งในรูปแบบผู้บริโภคที่เราสามารถเข้าไปทำการตลาดได้อย่างดี เพราะมีความพร้อมลอง พร้อมท้ายทาย และยังมีกำลังทรัพย์ค่อนข้างดีค่ะ
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างสถานการณ์ COVID-19 นั้น กลุ่ม Generation Y (หรือเกิดในช่วงต้นปี 1980 จนไปถึงใกล้ปี 2000) ซึ่งปัจจุบันถึงช่วงวัยทำงาน และเริ่มรับตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูงขึ้น ผู้คนในวัยเหล่านี้เป็นจำนวนมากเกิดอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ และใช้ชีวิตหน้าการประชุมออนไลน์มากเกินไป ในช่วงที่ต้องทำงานที่บ้านจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจากการเริ่มฉีดวัคซีน (ในประเทศสหรัฐอเมริกา) คนกลุ่มนี้พบว่ามีเงินเก็บที่เหลือจากการอยู่บ้านมาเป็นระยะเวลานาน และพร้อมในการใช้จ่ายเพื่อตนเองหลังจากผ่อนคลายการล็อคดาวน์ จึงเกิดพฤติกรรมกลุ่มคนที่เรียกว่า YOLO อันย่อมาจาก “You only live once.” ซึ่งโด่งดังจากท่อนหนึ่งในเพลง The Motto ของ Drake แปลว่าเราเกิดมามีชีวิตครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งในภายหลังกลายมาเป็น Meme ในวงการนักเทรดหุ้นรวมถึงนำมาใช้อธิบายทัศนคติของกลุ่มคน Gen Y กลุ่มที่กล้ากระโดดออกมาจาก Comfort Zone เพื่อใช้ชีวิตในแบบที่จะไม่เสียใจในภายหลัง
แต่ไม่ใช่ Gen Y ทุกคนที่สามารถเข้าข่ายเป็นชาว YOLOer ได้ เพราะกลุ่มคน YOLO นั้นถือเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีอาชีพการงานและสถานะทางรายได้หรือเงินเก็บที่อยู่ในระดับที่ไม่ได้รับผลกระทบทางการเงินจาก COVID-19 มากเท่ากลุ่มคนทั่วไป ซึ่งอาจเป็นเพราะลักษณะงานที่ไม่ได้รับผลกระทบมาก หรืออาจมีเงินเก็บมากเพียงพอจนสามารถพร้อมรับความเสี่ยงในการก้าวออกมาจากความมั่นคงได้ ในวันหนึ่งนั้นกลุ่มคนเหล่านี้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายที่ต้องติดกับอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานมากกว่า 10 ชั่วโมง และเกิดการตั้งคำถามถึงชีวิตขึ้นมาว่า ความเชื่อที่ว่าถ้าเราทำงานหนักแล้ววันหนึ่งจะมีชีวิตที่สุขสบายขึ้นมาได้นั้นเป็นความจริงหรือไม่
และคำถามที่สำคัญที่สุดนั่นคือ ทำไมเราไม่เลือกที่จะมีความสุขตอนนี้เลย แทนที่จะต้องรอ?
และในที่สุด คนกลุ่มนี้ก็จะมีทางเลือกและสถานะทางการเงินที่ปลอดภัยพอที่จะทำให้ออกจากงานอันแสนมั่นคง ในช่วงภายหลังสภาวะ COVID-19 นั้นซาลง อาจจะเพื่อทำงานที่ใกล้บ้านมากขึ้น รับงานอิสระมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดนั่นคือการหลีกหนีอาการเหนื่อยล้า (Burn out) ทางอาชีพการงานนานที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน
แต่ทั้งนี้ การแก้ปัญหาอาการ Burnout ของเหล่าพนักงานนั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่บริษัทระดับนานาชาติหลายบริษัทเช่น Twitter นั้นก็ได้จัดทำโปรแกรมพิเศษให้พนักงานได้มีวันพักมากขึ้นอย่าง #DayofRest เป็นต้น แต่ก็ไม่ใช่พนักงานทุกคนที่จะพึงพอใจกับวันลาที่มากขึ้น หากปัญหาที่พวกเขารู้สึกคือการทำงานอยู่ในที่เดิมๆอย่างน่าเบื่อ จึงไม่อาจรั้งพนักงานหลายๆคนไว้ได้ ประกอบกับความรู้สึกว่าสิ่งที่มั่นคงนั้น อาจจะไม่ได้มั่นคงเหมือนแต่ก่อน อีกทั้งโลกใบนี้ยังมีความเปิดกว้างในโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หรือมีวิธีการสร้างทรัพย์สิน ความมั่งคั่งในรูปแบบอื่นมากกว่าการทำงานที่คนเหล่านี้เคยคิดว่ามั่นคงที่สุดแล้ว
แต่ทั้งนี้เมื่อผ่านการตัดสินใจออกจาก Comfort Zone ครั้งนี้ไป ก็อาจเป็นไปได้ที่เหล่า YOLO จะตัดสินใจกลับเข้ามาสู่วงจรการงานที่มั่นคงอีกครั้งหนึ่ง เพราะอาจต้องการหวนกลับสู่รูปแบบรายได้แบบดั้งเดิม หรือไม่ความพึงพอใจในสิ่งที่ตนเองตามหาแล้วก็เป็นไปได้
จากบทความดังกล่าว จึงหันกลับมามองในประเทศไทยว่า เราจะมีกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมสอดคล้องกับแนวทางที่เรียกว่า YOLO มากน้อยเพียงใด ทาง UNBOX จึงได้ลองสอบถามคนรอบตัวที่ได้ออกจากงานประจำ หรือเปลี่ยนจากอาชีพที่เคยแสนจะมั่นคงในช่วง COVID-19 มาลองเป็นกรณีศึกษาว่ากลุ่มคนแบบ YOLO นั้นมีอยู่จริงในประเทศไทยบ้างไหม
จากการพูดคุยกับคนรอบข้างที่ได้เปลี่ยนงานในช่วง COVID-19 อันมาจากการตัดสินใจในการเปลี่ยนเองนั้น (มิใช่สถานการณ์บีบบังคับ) พบว่ามีเหล่า Gen-Y หลายคนที่พบสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่ได้อยู่กับบ้านมากขึ้นจริง และแสวงหาการทำสิ่งอื่นที่เป็นการพัฒนาทักษะมากยิ่งขึ้น หรืออาจกล้าเปลี่ยนสายงานไปยังอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 น้อยกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยคิดใฝ่ฝันไว้ว่าอยากลองเช่นเดียวกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่แน่นอนในประเทศไทย พบว่าการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงของคน Gen-Y ส่วนมากนั้นยังมีข้อคำนึงถึงช่องทางรายได้เสียส่วนมาก ว่าต่อให้อยากจะ YOLO สักเท่าไหร่ แต่เส้นทางที่เลือกออกมานั้นยังต้องเป็นสิ่งที่หาเลี้ยงชีพได้พอเลี้ยงตัวอยู่ดี การจะก้าวออกมาเริ่มต้นใหม่กับอะไรที่ไม่มั่นใจกับช่องทางรายได้เลยนั้นอาจเป็นสิ่งที่น่าหวั่นเกรงเกินไปสักเล็กน้อย
ดังนั้น จึงต้องรอจับตามองต่อไปว่า เมื่อสถานการณ์ COVID-19 ในไทยนั้นดีขึ้น จะมีชาว YOLOer ที่กล้าออกมา ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตตนเองบ้างขึ้นไหม หรือสำหรับผู้อ่านเอง อาจจะลองคิดทบทวนว่าตั้งแต่วันที่ COVID-19 เข้ามา เรามีมุมมอง และทัศนคติต่องั้นนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างหรือเปล่าค่ะ 😊
Contributor
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudhya
Full-time lecturer at a school of communication arts and freelance event planner. Living with a strong passion for experiential and event marketing. Her happiness is all about making event audiences smile and playing with her cats.