จากสถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่ระบาดมาหลายเดือนทั้งในไทยและต่างประเทศ วงการอีเวนต์นับว่าเป็น 1 ในอุตสาหกรรมที่เรียกได้ว่าโดนผลกระทบหนักที่สุด โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา เราคงได้ยินการประกาศยกเลิกหรือเลื่อนการจัดงานขนาดใหญ่ในประเทศไทยอย่าง บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ Money Expo Hatyai 2020 โมโตจีพี 2020 รวมไปถึงเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นแลนมาร์คดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างงานใหญ่ S20 Music Festival ตลอดจนงานเล็กๆของผู้จัดงานรายย่อยอีกทั่วทั้งประเทศ
แม้การเลื่อนหรือยกเลิกการจัดงานในครั้งนี้ จะทำให้แผนเดิมของผู้จัดงานหลายคนต้องล้มเลิกไป แต่เรากลับได้เห็นไอเดียใหม่ๆของทางรอดในการจัดงาน ที่แม้จะไม่ได้จัดงานในรูปแบบที่เหมือนเดิม 100% แต่งานก็ยังดำเนินต่อไปได้ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ จึงถือได้ว่าช่วงนี้จึงน่าจะเป็นโอกาสดี ที่ชาว UNBOX BKK จะได้ลองเรียนรู้ทางเลือกใหม่ๆในการจัดงานยุค 2020 ซึ่งถึงแม้ในอนาคตจะหมดช่วง COVID-19 ไปแล้ว แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ก็ยังถือได้ว่ายังไม่เอาต์ไปไหน เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆก็เริ่มสนุกกับการโกออนไลน์มากขึ้นแล้ว
อันที่จริงแล้ว แม้จะยังไม่มีกระแสเรื่อง COVID-19 เข้ามา แต่การใช้เทคโนโลยีต่างๆในงานอีเวนต์นั้นถือว่าเป็นเทรนด์ที่เกิดจะต้านทานในวงการอีเวนต์มาได้พักใหญ่ในช่วงทศวรรษนี้ผ่านมานี้แล้ว โดยเฉพาะในต่างประเทศ เว็บไซต์ Event Manager Blog ได้จัด 100 อันดับ Event Trend ปี 2020 และได้ค้นพบว่ามากกว่า 70% ของ Trend ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Virtual Reality (VR) หรือ Augmented Reality (AR) ในการทำให้ประสบการณ์การเข้าร่วมงานนั้นสนุกขึ้น หรือการพัฒนา Application ต่างๆเพื่อทำให้การเข้าร่วมงานนั้นสะดวกสบายมากขึ้น (และแอบกระซิบว่างานสายอาชีพพัฒนา Tech สำหรับงานอีเวนต์นี่กำลังเติบโตมากๆในต่างประเทศเชียวล่ะ)
กลับมาดูบ้านเรากันบ้าง อะไรบ้างเหมาะกับในช่วงที่เราควรลดการเจอกันให้มากที่สุด (Social Distancing) ทางเลือกที่เป็นที่นิยมที่สุดในตอนนี้ คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการจัด Virtual Event หรือการจำลองอีเวนต์บนโลกออนไลน์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB กล่าวว่า Virtual Event นั้นมีกิจกรรม 3 ลักษณะหลักๆคือ
1. การจัดการไลฟ์สตรีม (Live streaming) หรือที่คุ้นเคยกันในสื่อแบบเก่าๆ กันว่าถ่ายทอดสด เพียงแต่ในปัจจุบันช่องทางการเผยแพร่นั้นปรับไปอยู่บนพื้นที่ใหม่อย่าง Youtube หรือ Facebook รูปแบบนี้เหมาะกับงานที่เน้นผู้เข้าชมจำนวนมาก และมีจุดสนใจในงานไม่กี่จุด เช่นคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี หรือกีฬาประเภทต่างๆ หรือแม้แต่งานประเภทเปิดตัวสินค้าแบรนด์ระดับโลกเช่น Apple หรือ SAMSUNG นั้น ก็เรียกได้ว่าในปัจจุบันนั้นได้พึ่งช่องทางการ Live stream เป็นหนึ่งในช่องทางหลักไปแล้วเรียบร้อย
งานเปิดตัว SAMSUNG Galaxy S20 ที่เดี๋ยวนี้ไม่ว่า Galaxy จะเปิดตัวในประเทศใด ก็ต้องมีการ Live Stream ควบคู่ไปด้วยทุกครั้ง (Source: BusinessInsider)
สำหรับการจัดงานประเภท Live streaming นั้น ในประเทศไทยนับว่าสามารถหาผู้ให้บริการได้ไม่ยาก เช่น Thailivestream และ LiveTube โดยราคานั้นก็เป็นไปตามความซับซ้อน ทั้งจำนวนกล้อง ระบบสัญญาณต่างๆ โดยเป็นไปได้ตั้งแต่หลักหมื่นต้นๆ ไปจนถึงหลักแสน หรือแม้แต่เดี๋ยวนี้หากเรามีมือถือและ Facebook Account ก็สามารถทำ Live Streaming ในระดับง่ายๆเช่นเดียวกัน โดยอาจอาศัย Application ตัวช่วยในการถ่ายทอดสดให้มีลูกเล่นมากขึ้นอย่าง Switcher Studio ที่สามารถเพิ่มลูกเล่นด้านการใส่ข้อความและลูกเล่นต่างๆได้อย่างสนุกสนาน โดยใช้งานได้ผ่าน iPhone หรือ iPad แต่อย่างไรก็ตาม หากจะทำเองต้องระวังข้อจำกัดในเรื่องความคมชัดของภาพ เสียง และสัญญาณอินเตอร์เน็ทนะคะ
เจ้าให้บริการระบบลงทะเบียนอีเวนต์รายใหญ่อย่าง eventpop ได้เริ่มเปิดบริการ Live Streaming ร่วมกับ Partner หลายๆเจ้า ในช่วงแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างในรูปนี้แม้แต่งาน Festival อย่าง KOLOUR IN THE PARK ก็ยังจัดได้นะคะ
2. เว็บบินาร์ (Webinar) หรือย่อมาจาก Web-based Seminar เป็นเหมือนการสัมมนาบนโลกออนไลน์ โดยเน้นการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เข้าร่วมเป็นหลัก การใช้งานประเภทนี้เหมาะกับงานอีเวนต์ที่ต้องการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในเชิงความสัมพันธ์และในเชิงวิชาการ วิชาชีพ สำหรับในประเทศไทยนั้นจริงๆเริ่มพบบ้างแล้วในการสัมมนาระดับภายในประเทศ และระดับนานาชาติหลายองค์กร ในกรณีนี้หากใครต้องการลองสัมมนารูปแบบ Webinar แล้วที่ออฟฟิศยังไม่มีทีม IT พัฒนาตัว Platform เฉพาะให้ จะลองสัมมนากันย่อยๆอย่างใน Zoom, Google Hangouts หรือ MS Team กันก่อนก็ได้นะคะ
Webinar ทำได้ทั้งในระดับ Office เล็กๆและคนจำนวนระดับพัน หลังจบช่วง COVID-19 ไป ใครๆก็น่าจะคุ้นเคยกับระบบนี้กันแล้วล่ะค่ะ
3. อีเว้นท์สภาพแวดล้อมเสมือนจริง (Virtual Environment Event) เป็นการผสมผสานการจำลองการเข้าร่วมอีเวนต์จริง ผ่านรูปแบบของเทคนิคที่หลากหลาย ทั้งการสร้าง Graphic เสมือน การสร้างตัวละครแทน (Avatar) ให้เราได้พูดคุย เดินเข้าห้องสัมมนาต่างๆเหมือนไปงานอีเวนต์จริงๆ ถ้าอยากลองดูตัวอย่างง่ายๆว่า Virtual environment event นั้นทำงานอย่างไร ลองดู Clip ด้านล่างจากบริษัท TEOOH หรือ On24 ก็ได้ค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=tu4Y5PWvOck
สำหรับ Virtual environment event ตามแบบด้านบนนั้นยังไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมากนัก เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ก็ไม่แน่นะคะ หากมี Developer ท่านใดกำลังอ่านบทความนี้อยู่ นี่อาจจะเป็นโอกาสทองในสายงาน Event Tech ก็ได้ค่ะ
สุดท้ายนี้ ทีมงาน UNBOX BKK ขอฝากไว้ว่า ความรู้ด้านเทคโนโลยีออนไลน์อีเวนต์เหล่านี้ไม่ใช่เพียง Option เสริมอีกต่อไป แต่เป็นถือ A MUST! ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดงาน หรือลูกค้า ควรจะลองสักครั้ง เพราะสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นตัวที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ของลูกค้าให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้นขึ้น และเข้าถึงคนหมู่มากได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น และไม่ว่าวันต่อไป COVID-19 จะยังอยู่กับเราต่อไปหรือไม่ หรืออีกนานแค่ไหน แต่เทคโนโลยีเหล่านี้นับวันมีแต่จะโตขึ้น มีลูกเล่นหลากหลายมากขึ้น และไม่มีวันเอาท์ไปง่ายๆอย่างแน่นอนค่ะ 😊
Contributor
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudhya
Full-time lecturer at a school of communication arts and freelance event planner. Living with a strong passion for experiential and event marketing. Her happiness is all about making event audiences smile and playing with her cats.